ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
ประเทศไทยเริ่มมีรายงานปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กว่า ๔๐ ปีที่แล้วมา เช่น เหตุการณ์โรงงานน้ำตาลปล่อยส่าน้ำตาลลงในแม่น้ำแม่กลองในปี พศ. ๒๕๑๒ หรือกรณีปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมฉบับแรกในปี พศ. ๒๕๑๘ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการปล่อยสารก่อมะเร็งและโลหะหนักชนิดต่าง ๆ สู่สิ่งแวดล้อม
การจัดการสิ่งแวดล้อม มีการใช้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment, EIA) เป็นเครื่องมือสำคัญมาเป็นระยะเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว ต่อมาได้เพิ่มการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment, EHIA) สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่
- การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)
- การกลั่นกลองกำหนดโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน (Screening)
- การกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมิน (Scoping)
- การจัดทำรายงาน (Preparation)
- การพิจารณารายงาน (Review)
- การพิจารณาตัดสินของหน่วยงานรัฐ (Decision)
- ขั้นตอนการติดตามตรวจสอบ (Monitoring and Auditing)
โดยทั่วไป หน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมในข้อ ๑ ส่วนกิจกรรมในข้อ ๒-๕ นั้นอาจกระทำโดยบริษัทที่ปรึกษา ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด สผ. จะส่งรายงานให้กับองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ความเห็น แล้วจึงส่งผลให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต เพื่อดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาทั้งหมดจะพบว่ายังขาดเครื่องมือส่วนสำคัญ ๒ เรื่อง ได้แก่ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และขั้นตอนที่เหมาะสมในการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Auditing) ส่วนสำคัญทั้งสองเรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมของทุกพื้นที่ในอนาคต และควรเพิ่มความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนด้วย
สำหรับลักษณะประเภทโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งต้องจัดทำ EHIA นั้นประกอบด้วย
- การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด (ตั้งแต่ ๓๐๐ ไร่ขึ้นไป)
- การทำเหมืองแร่
- นิคมอุตสาหกรรม
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
- อุตสาหกรรมถลุงแร่
- การผลิต กำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี
- การเผาและการฝังกลบขยะอันตราย (ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซิเมนต์ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม)
- โครงการระบบขนส่งทางอากาศที่มีการก่อสร้าง ขยายหรือเพิ่มทางวิ่งของอากาศยานตั้งแต่ ๓,๐๐๐ เมตรขึ้นไป
- ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่า (berth length) ตั้งแต่ ๓๐๐ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป
- เขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
- โรงไฟฟ้าพลังความร้อน
- อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค๊ก