การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ: เครื่องมือสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเริ่มมีรายงานปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กว่า ๔๐ ปีที่แล้วมา เช่น เหตุการณ์โรงงานน้ำตาลปล่อยส่าน้ำตาลลงในแม่น้ำแม่กลองในปี พศ. ๒๕๑๒ หรือกรณีปริมาณออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมฉบับแรกในปี พศ. ๒๕๑๘ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการปล่อยสารก่อมะเร็งและโลหะหนักชนิดต่าง ๆ สู่สิ่งแวดล้อม

การจัดการสิ่งแวดล้อม มีการใช้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment, EIA) เป็นเครื่องมือสำคัญมาเป็นระยะเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว ต่อมาได้เพิ่มการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment, EHIA) สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ได้แก่

  1. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)
  2. การกลั่นกลองกำหนดโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน (Screening)
  3. การกำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมิน (Scoping)
  4. การจัดทำรายงาน (Preparation)
  5. การพิจารณารายงาน (Review)
  6. การพิจารณาตัดสินของหน่วยงานรัฐ (Decision)
  7. ขั้นตอนการติดตามตรวจสอบ (Monitoring and Auditing)

โดยทั่วไป หน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรมในข้อ ๑ ส่วนกิจกรรมในข้อ ๒-๕ นั้นอาจกระทำโดยบริษัทที่ปรึกษา ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด สผ. จะส่งรายงานให้กับองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อให้ความเห็น แล้วจึงส่งผลให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต เพื่อดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาทั้งหมดจะพบว่ายังขาดเครื่องมือส่วนสำคัญ ๒ เรื่อง ได้แก่ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และขั้นตอนที่เหมาะสมในการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Auditing) ส่วนสำคัญทั้งสองเรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาบรรจุไว้ในแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมของทุกพื้นที่ในอนาคต และควรเพิ่มความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนด้วย

สำหรับลักษณะประเภทโครงการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งต้องจัดทำ EHIA นั้นประกอบด้วย

  1. การถมทะเล หรือทะเลสาบ นอกแนวเขตชายฝั่งเดิม ยกเว้นการถมทะเลที่เป็นการฟื้นฟูสภาพชายหาด (ตั้งแต่ ๓๐๐ ไร่ขึ้นไป)
  2. การทำเหมืองแร่
  3. นิคมอุตสาหกรรม
  4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  5. อุตสาหกรรมถลุงแร่
  6. การผลิต กำจัด หรือปรับแต่งสารกัมมันตรังสี
  7. การเผาและการฝังกลบขยะอันตราย (ยกเว้นการเผาในหม้อเผาซิเมนต์ที่ใช้ของเสียอันตรายเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริม)
  8. โครงการระบบขนส่งทางอากาศที่มีการก่อสร้าง ขยายหรือเพิ่มทางวิ่งของอากาศยานตั้งแต่ ๓,๐๐๐ เมตรขึ้นไป
  9. ท่าเทียบเรือที่มีความยาวหน้าท่า (berth length) ตั้งแต่ ๓๐๐ เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป
  10. เขื่อนเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร
  11. โรงไฟฟ้าพลังความร้อน
  12. อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค๊ก

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →