เครื่องพิมพ์ ๓ มิติ (3D Printer) กับการพัฒนาอุตสาหกรรม

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ภาคีสมาชิก

เทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ หรือ 3D Printing เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสมัยใหม่และเป็น Disruption Technology ที่จะมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ (The 4th Industrial Revolution) ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ ได้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีเทคโนโลยีการพิมพ์ในหลายรูปแบบ สามารถทำการพิมพ์โดยใช้วัสดุได้หลากหลายมากกว่า ๒๕๐ ชนิด เช่น โลหะ พลาสติก ยาง แก้ว อาหาร เป็นต้น สามารถนำมาใช้ในการผลิตทั้งแต่งานขนาดเล็ก ๆ เช่น เครื่องประดับ อาหาร ไปถึงงานขนาดใหญ่ เช่น อาคาร หรือ สะพาน เป็นต้น

การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ นั้นจะเป็นส่วนสำคัญของการพลิกโฉมรูปแบบอุตสาหกรรมการผลิตของโลก อาทิเช่น

  1. เปลี่ยนจากการผลิตที่เป็นปริมาณมาก ๆ (Mass Production) ในรูปแบบเดียวกัน เป็นการผลิตแบบเฉพาะเจาะจงตามความต้องการหรือเหมาะสมกับลูกค้าเป็นราย (Mass Customization) ภายใต้ต้นทุนที่ถูกลง
  2. ลดขนาดของโซ่อุปทานการผลิต เพราะสามารถกระจายการผลิตไปยังอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้เลย ไม่จำเป็นต้องผลิตจากที่เดียว
  3. ลดต้นทุนในการผลิต เช่น สินค้าคงคลัง การขนส่ง การใช้วัสดุ กระบวนการผลิต เป็นต้น
  4. สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยในภาพรวมยังไม่ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับเทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ มากนัก ซึ่งในอนาคตจะเป็นภาวะคุมคามที่ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในการเตรียมความพร้อมของประเทศ ควรมุ่งเน้นใน ๓ ด้านหลัก ประกอบด้วย

  1. ด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้สามารถรองรับเทคโนโลยีนี้ รวมถึงการพัฒนานักวิจัยในด้านนี้
  2. ด้านอุตสาหกรรม ควรส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักและเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น
  3. ด้านการลงทุน ควรมีนโยบายในการจูงใจให้อุตสาหกรรมในประเทศลงทุนในเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีการพิมพ์ ๓ มิติ

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →