การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ และรูปแบบเศรษฐกิจใหม่

ศ. ดร.ศุภชัย  ปทุมนากุล
ภาคีสมาชิก

ในปัจจุบัน โลกกำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากการปฏิวัติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่การปฏิวัติครั้งที่ 4 นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและเป็นแบบเอกซ์โปเนนเชียล (Exponential) ที่รวดเร็วมาก นอกจากเทคโนโลยีที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แล้ว ปัจจัยทาง ภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) และ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ (Socioeconomic) ก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม การปกครอง รวมถึงปัจเจกบุคคล
ในด้านธุรกิจทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) เป็นฐาน ซึ่งได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นธุรกิจที่มูลค่าสูงกว่าธุรกิจการผลิตแบบเดิมๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจธนาคาร ที่มีมูลค่าสูงในอดีต และคาดการณ์ว่าจะมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญหายไป นอกจากนี้ อาชีพการทำงานของคนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย World Economic Forum ได้คาดการณ์ว่า 65% ของเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนประถมวันนี้ จะได้งานที่ไม่เคยมีในตอนนี้ หลังจบการศึกษาขั้นสุดท้าย
ในการตอบสนองเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นแบบสหวิทยาการ และบูรณาการมากขึ้น เน้นทักษะสมัยใหม่ การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ส่งเสริมให้คนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงสิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น รวมถึงสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น และการพัฒนากฎระเบียบที่เอื้อต่อธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นฐาน

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →