https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hybrid_corn_Yellow_Springs,_Ohio.jpg

พืชดัดแปรพันธุกรรม: เราจะไปทางไหนดี?

ศ. ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์
ภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

GMO หรือ Genetically modified organisms ได้แก่ สิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ จุลินทรีย์) ที่ถูกดัดแปรพันธุกรรมด้วยกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม โดยตัดเอายีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปใส่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งปกติไม่ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้สิ่งมีชีวิตนั้นมีคุณลักษณะหรือสมบัติตามที่ต้องการ ในส่วนของพืชดัดแปรพันธุกรรม (GM plant) นั้น หมายถึง พืชที่ได้รับการดัดแปรหรือตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งเริ่มมีการปลูกในแปลงทดลองเป็นครั้งแรก (เป็นยาสูบที่ถูกดัดแปรให้มีความต้านทานต่อสารปฏิชีวนะ) ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๘๒ หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ มีการผลิตมะเขือเทศ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Flavr Savr® มีกลิ่นหอมและอายุการเก็บรักษา (Shelf life) ที่ยาวนานกว่าปกติ เพื่อให้สามารถวางตลาดได้นาน ต่อมาในปี ค.ศ.๑๙๙๖ มีการผลิตถั่วเหลืองที่มีความต้านทานต่อสารกำจัดวัชพืช ตลอดจนข้าวโพดและฝ้ายที่มีความต้านทานต่อแมลง และในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและสวิส ได้ร่วมกันผลิตข้าวสีทองที่มีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูง (ซึ่งในปัจจุบันสามารถผลิตข้าวที่มีปริมาณสารเบต้าแคโรทีนสูงกว่าข้าวสีทองได้ถึง ๓๐-๔๐ เท่า)

ปัจจุบันพืชดัดแปรพันธุกรรมที่มีการผลิตในเชิงพาณิชย์มากที่สุด ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย มะเขือเทศ คาโนลา มันฝรั่ง มะละกอ และถั่วลันเตา โดยมีพื้นที่ปลูกพืชดังกล่าวทั่วโลกกว่า ๑,๐๐๐ ล้านไร่ สำหรับประเทศไทย ยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงการค้า (แม้ว่าเกษตรกรจะปลูกฝ้ายบีที ที่เรียกว่า ฝ้ายสมอเหล็ก มานานกว่า 20 ปี และปลูกมะละกอที่มีความต้านทานไวรัส ซึ่งได้จากแปลงทดลองของ กรมวิชาการเกษตรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มานานกว่า 10 ปี) เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรม ทำให้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องถูกจำกัดอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการและโรงเรือนเท่านั้น ทั้งนี้แม้ว่านักวิจัยไทยจะมีความรู้ ความสามารถสูงในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ตาม เช่น มีความสามารถในการค้นหาและตรวจสอบยีนที่อ้อยใช้ตอบสนองต่อสภาวะดินเค็ม สามารถศึกษาและเข้าใจการทำงานของโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีน การค้นหาและตรวจสอบตัวส่งเสริม (Promoter) ที่ควบคุมการทำงานของยีนที่ตอบสนองต่อธาตุโบรอนในปาล์มน้ำมัน การศึกษายีนที่ควบคุมการสร้างสารพิษในสบู่ดำการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ที่สร้างสารเอธิลีนน้อยลง (เพื่อให้อายุการปักแจกันยาวนานขึ้น) การพัฒนาสายพันธุ์ยูคาลิปตัสที่สะสมสารลิกนินน้อยลง (เพื่อลดต้นทุนและสารเคมีในการผลิตเยื่อกระดาษ) การพัฒนาสายพันธุ์อ้อยต้านทานแมลง (อ้อยบีที) มะละกอต้านทานโรคด่างวงแหวน และสักต้านทานแมลง (สักบีที) เป็นต้น

แม้ในปัจจุบันจะมีกระแสความวิตกกังวลที่มีต่อพืชดัดแปรพันธุกรรมว่าอาจแพร่พันธุ์ไปได้หากปล่อยสู่สภาพแวดล้อม และกลายเป็นพืชพิเศษที่ดำรงชีวิตได้เหนือกว่าพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดเป็นพืชที่ผลิตสารฆ่าแมลงและเป็นอันตรายต่อแมลงที่เป็นประโยชน์ เป็นพืชที่มีความต้านทานยากำจัดวัชพืช ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องใช้สารกำจัดวัชพืชเพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีปริมาณสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เกิดการระบาดของวัชพืชที่ควบคุมและกำจัดยาก หรือแม้กระทั่งเกิดการถ่ายทอดความต้านทานยาปฏิชีวนะจากพืชไปสู่แบคทีเรียในร่างกายของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดการผูกขาดทางการค้าโดยบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ อย่างไรก็ตาม พืชดัดแปรพันธุกรรมก็มีข้อดีหลายประการ ได้แก่ ความสามารถในการทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการเพิ่มแหล่งผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์ นอกจากนี้ การดัดแปรพันธุกรรมพืชยังจะช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับพืช เกิดเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ เช่น ไม้ดอก-ไม้ประดับที่มีสีสันแตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนนำไปสู่ความสามารถในการลดการใช้สารพิษควบคุมศัตรูพืช ลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของยีนพืช ยังจะสามารถนำไปปรับใช้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

แนวทางที่สำคัญที่ควรดำเนินการเพื่อให้ประชาคมมีความเข้าใจเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรม คือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และควรอนุญาตให้ทดสอบพืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น สบู่ดำ ในแปลงทดลอง ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีจำนวนของประเทศทั่วโลกที่ยอมรับให้มีการวิจัย และบริโภคพืช ดัดแปรพันธุกรรมมากกว่าจำนวนของประเทศที่ไม่ยอมรับ ด้วยเหตุนี้ หากประเทศไทยไม่มีการพัฒนา เทคโนโลยีนี้อย่างทันท่วงที ก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกในอนาคต ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า อนาคตของพืชดัดแปรพันธุกรรมขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของ
ประเทศไทย การให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ตลอดจนการมีนโยบายที่ชัดเจน และการสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพและพืชดัดแปรพันธุกรรม

บรรยายในที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐

ภาพประกอบ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Hybrid_corn_Yellow_Springs,_Ohio.jpg

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →