สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ
ภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วัณโรค (Tuberculosis: TB) อาจจัดได้ว่าเป็นโรคอุบัติซ้ำ (Re-emerging disease) โดยเหตุที่เคยเป็นปัญหาด้านสุขภาพของโลกและของประเทศไทย แต่จากการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนดำเนินการรักษา ควบคุมโรคด้วยยาและวัคซีนจนประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคและลดระดับความสำคัญของภาวะโรคนี้ลงไปได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา วัณโรคกลับกลายมาเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลกอีกครั้ง รวมทั้งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทยด้วย

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาปัญหาวัณโรคในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ๑. อุบัติการณ์การเกิดโรค (อุบัติการณ์ อัตราการวินิจฉัยโรค อัตราการได้รับการรักษา อัตราการหายจากโรค) ๒. การเป็นวัณโรคชนิดที่ดื้อยาหลายขนาน (Multidrug resistant TB: MDR-TB) และ ๓. การเป็นวัณโรคร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี (TB/HIV) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ไทยถูกจัดเป็น ๑ ใน ๑๔ ประเทศที่มีปัญหาวัณโรคสูงทั้ง ๓ ด้าน โดยจากการสำรวจและคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก  พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ (ทั้งที่เป็นครั้งแรกและกลับมาเป็นซ้ำ) ๑๑๗,๐๐๐ คน หรือ ๑๗๒ คนต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน แต่พบว่ามีการลงทะเบียนว่าได้รับการรักษาเพียง ๕๘,๗๑๔ ราย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๕๐ และพบว่ามีอัตราการรักษาสำเร็จ (Success rate of treatment) ประมาณร้อยละ ๗๕ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีประสิทธิผลของความครอบคลุมโรค (Effective coverage) เพียงร้อยละ ๓๙ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคอย่างจริงจังและเร่งด่วน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อ “ยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔” เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ มีการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยวัณโรคในประเทศไทย  (Thai Tuberculosis Research Network: ThaiTuRN) และเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ได้จัดงบประมาณเป็นพิเศษเพื่อมุ่งเป้าในการแก้ปัญหาวัณโรคแบบบูรณาการ โดยอิงปัจจัยความสำเร็จในการแก้ปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย แต่อิงยุทธศาสตร์การยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลก (WHO End-TB Strategy) โดยมีดัชนีชี้วัดที่สำคัญคือ ๑. การเสียชีวิตจากวัณโรคต้องลดลงร้อยละ ๙๕ ๒. อุบัติการวัณโรคลดลงร้อยละ ๙๐ หรือมีผู้ติดเชื้อวัณโรคต่ำกว่า ๑๐ คนต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน (โดยมีประสิทธิผลของความครอบคลุมโรคอยู่ที่ร้อยละ ๗๐) และ ๓. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนในขั้นหายนะ (Catastrophic Cost) เท่ากับศูนย์

ในแง่ของการวิจัย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ ๕ ซึ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค โดยมีเป้าประสงค์เพื่อเร่งรัดการศึกษาวิจัยที่สามารถชี้นำแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานวัณโรค รวมทั้ง ส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับการพัฒนางานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยมาตรการ ดังนี้ ๑. พัฒนาแผนวิจัยวัณโรคระดับชาติ (National Tuberculosis Research Roadmap) โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานผู้ให้ทุน หน่วยงานวิจัย และหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ๒. ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม พัฒนารูปแบบการดำเนินงานวัณโรคอย่างเป็นระบบ และสามารถประยุกต์ ใช้ขยายผลอ้างอิงในภาพรวมของเขตและประเทศ ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในยุทธศาสตร์นี้ โดยเฉพาะประเด็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการส่งเสริม ป้องกัน และรักษาควบคุมโรค ที่ต้องอาศัยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างจริงจัง

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →