ความหลากหลายทางชีวภาพและการเลี้ยงผึ้งในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ศ. ดร.สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
มิน อู เหลียง
หลักสูตรสหวิทยาการเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์นับเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในระดับสูง โดยเฉพาะในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้ง โดยจากการสำรวจ พบว่ามีผึ้งในสกุล Apis ทั้งหมด 6 ชนิด ได้แก่ A. andreniformis, A. florea, A. dorsata, A. laboriosa, A. cerana, A. mellifera ทั้งนี้ในรัฐกะฉิ่น (Kachin) มีผึ้งอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ A. dorsata, A. laboriosa, A. cerana และ A. mellifera ในเขตรัฐสะกาย (Sagain) มีผึ้งอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ A. florea, A. dorsata, A. laboriosa, A. cerana และ A. mellifera ส่วนในรัฐฉาน (รัฐไทยใหญ่) มีผึ้งอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ A. dorsata, A. laboriosa (ชนิดใหญ่ที่สุดในโลก), A. cerana, A. mellifera และ A. andreniformis (ผึ้งสายพันธุ์เล็กที่สุดในโลก และรายงานค้นพบเป็นครั้งแรกในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์) นอกจากนี้ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ยังมีพืชอาหารที่ให้น้ำผึ้งหลากหลายชนิด โดยเฉพาะพุทรา ซึ่งให้น้ำผึ้งเป็นปริมาณมาก

ในแง่ของการเลี้ยงผึ้งในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์นั้นเริ่มต้นในปี ค.ศ. ๑๙๗๙ โดย United Nations Development Program (UNDP) และ Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) ให้การสนับสนุนทุน และจัดผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) นำผึ้งสายพันธุ์ A. mellifera เข้าไปเป็นเลี้ยงเป็นครั้งแรก ในขั้นแรกเริ่มเลี้ยงผึ้งก่อน ๓๙๕ รัง โดยเป็นผึ้งจากสหรัฐอเมริกา ๓๖๐ รัง และจากอิสราเอล ๓๕ รัง หลังจากนั้น มีการนำเข้าเพิ่มเติมในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๘๐-๑๙๘๓ จากสหรัฐอเมริกา อิสราเอล ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยมีการขยายจำนวนการเลี้ยงขึ้นเป็นถึง ๑,๕๕๐ รัง ต่อมาการเลี้ยงผึ้งได้ขยายตัวขึ้นตามลำดับ และได้รับทุนสนับสนุนจาก FAO ในระยะที่สองในปี ค.ศ. ๒๐๑๓-๒๐๑๖ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงผึ้งและผลิตนมผึ้ง ปัจจุบันการเลี้ยงผึ้งได้รับการส่งเสริมจากกรมวิทยาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรของกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จนมีผึ้งมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ รัง (ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ รังในปี ค.ศ. ๒๐๑๕)

ปัจจุบันสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณปีละ ๕,๐๐๐ ตัน โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึงประมาณ ๓,๐๐๐ ตัน มีการเลี้ยงทั้งผึ้งท้องถิ่นและผึ้งที่มีแหล่งกำเนิดจากทวีปยุโรป โดยการเลี้ยงผึ้งส่วนใหญ่กระทำโดยภาคเอกชน ยังมีการอบรมและขยายพันธุ์ผึ้ง (โดย FAO และกรมวิชาการเกษตรของกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์) ไปสู่เกษตรกร

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →