การลดสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้ก่อนการบริโภค

ศ. ดร.สายชล เกตุษา
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปัจจุบันการพัฒนาระบบการปลูกพืชและการดูแลพืชเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการเกษตรในอดีต ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และจากการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำในที่เดิมเป็นเวลานาน ทำให้สภาพของดินเสื่อมโทรม ตลอดจนมีโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องพึ่งการใช้สารเคมี ซึ่งรวมถึงปุ๋ยเคมีและสารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบการปลูกพืชแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงระบบการปลูกพืชที่ไม่มีการใช้สารเคมี หรือการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลดการใช้สารเคมีและรักษาสภาพแวดล้อม แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network, Thai-PAN) ซึ่งได้สำรวจปริมาณสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้ที่ตลาดทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด ก็ยังพบว่าผักและผลไม้หลายชนิดมีสารพิษปนเปื้อนเกินกว่าระดับที่ทางราชการกำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังพบว่าผักและผลไม้ที่ติดป้ายที่ระบุว่าเป็นผลิตผลเกษตรอินทรีย์ก็ยังมีสารพิษปนเปื้อนเกินปริมาณที่กำหนดถึงร้อยละ ๒๕ ขณะที่ผักและผลไม้ที่ติดเครื่องหมายรับรองคุณภาพของทางก็มีสารพิษปนเปื้อนเกินปริมาณที่กำหนดถึงร้อยละ ๕๗ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพบวัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน และไม่ได้รับอนุญาตให้มีการผลิตและนำเข้าในผลิตภัณฑ์บางชนิด นอกจากนี้ ยังพบว่าความปลอดภัยของผักและผลไม้ที่จำหน่ายในแหล่งธุรกิจสมัยใหม่ (Modern trade) ก็ไม่แตกต่างจากที่จำหน่ายในตลาดทั่วไปจากการตรวจสอบผักและผลไม้ที่มีจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ พบร้อยละของตัวอย่าง (คำนวณเทียบกับจำนวนของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ) ที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน ดังนี้

  • พริกแดง ร้อยละ ๑๐๐
  • ส้มสายน้ำผึ้ง ร้อยละ ๑๐๐
  • กะเพรา ร้อยละ ๖๗
  • ฝรั่ง ร้อยละ ๑๐๐
  • ถั่วฝักยาว ร้อยละ ๖๗
  • แก้วมังกร ร้อยละ ๗๑
  • คะน้า ร้อยละ ๕๖
  • มะละกอ ร้อยละ ๖๗
  • ผักกาดขาวปลี ร้อยละ ๓๓
  • มะม่วงน้ำดอกไม้ ร้อยละ ๔๔
  • ผักบุ้งจีน ร้อยละ ๒๒
  • แตงโม ร้อยละ ๐
  • มะเขือเทศ ร้อยละ ๑๑
  • แตงกวา ร้อยละ ๑๑
  • มะเขือเปราะ ร้อยละ ๐
  • กะหล่ำปลี ร้อยละ ๐

ทั้งนี้เก็บตัวอย่างผัก ๑๐ ชนิดและผลไม้ ๖ ชนิด ในเขตกรุงเทพ/ปริมณฑล เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๑๖-๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ จำนวนรวม ๑๓๘ ตัวอย่าง จากตลาดสินค้าส่งและแหล่งธุรกิจสมัยใหม่ และส่งวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษซึ่งได้การรับรองมาตรฐาน ISO/IEC ๑๗๐๒๕:๒๐๐๕ โดย United Kingdom Accreditation Service (UKAS) นอกจากนี้ จากผลการเฝ้าระวังผักและผลไม้ปนเปื้อนสารพิษ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งทำการตรวจตัวอย่างผักและผลไม้ ๑๕๘ ตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างผักและผลไม้เกินครึ่งมีสารพิษปนเปื้อนอยู่ในระดับที่ม่ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยพบการปนเปื้อนในผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ แตงโม แคนตาลูป มะละกอ ฝรั่ง แก้วมังกร ส้ม ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ มะเขือเทศ ผักบุ้ง กะเพรา ถั่วฝักยาว พริกแดง และคะน้า

สารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้จะสะสมในร่างกายเมื่อมีการบริโภคผักและผลไม้เหล่านี้เป็นเวลานาน และจะเป็นพิษต่อร่างกายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องบริโภคผักและผลไม้เหล่านี้ จึงต้องมีวิธีการลดปริมาณสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้ก่อนการบริโภค เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย การลดสารพิษปนเปื้อนในผักและผลไม้สามารถทำได้โดยการเลือกซื้อ การล้าง การต้ม การลวก การปอกเปลือก และวิธีอื่น ๆ โดยวิธีการที่สะดวกที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การล้างผักและผลไม้ ดังนี้

  1. แช่ผักหรือผลไม้ในน้ำสะอาด โดยล้างผักหรือผลไม้ให้สะอาดจากสิ่งสกปรกด้วยน้ำหนึ่งครั้งก่อน และแช่ลงในอ่างนาน ๑๕ นาที สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ ๗-๓๓
  2. แช่ผักหรือผลไม้ในสารละลายโซเดียมไบคาร์บอนเนต ๑ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำอุ่น ๑ กะละมัง (๒๐ ลิตร) นาน ๑๕ นาที สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ ๙๐-๙๕
  3. แช่ผักหรือผลไม้ในน้ำส้มสายชูความเข้มข้นร้อยละ ๐.๕ นาน ๑๕ นาที สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ ๖๐-๘๔

นอกจากนี้ ยังอาจใช้วิธีการอื่น ๆ ซึ่งสามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้แตกต่างกันไป ดังนี้

  • ล้างโดยให้น้ำไหลผ่าน ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๒๕-๖๓
  • ปอกเปลือก ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๒๗-๗๒
  • ลวกหรือต้ม ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๕๐
  • แช่ในน้ำเกลือ ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๒๗-๓๘
  • แช่ในด่างทับทิม ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๓๕-๔๓
  • แช่ในน้ำส้มสายชู ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๖๐-๘๔
  • แช่ในเบกกิ้งโซดา ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๙๐-๙๕
  • ใช้น้ำยาล้างผัก ลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ ๒๕-๗๐

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาสารพิษปนเปื้อน อาจกระทำได้ดังนี้

  • ผู้บริโภคต้องมีวิธีการลดปริมาณสารพิษปนเปื้อนก่อนการบริโภคผักและผลไม้
  • ต้องสร้างจิตสำนึกให้กับเกษตรกรและผู้จำหน่ายให้มีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • ต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ต้องมีการควบคุมการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเข้มงวด
  • ต้องมีโทษหนักและรุนแรงต่อผู้กระทำผิดที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เป็นพิษและ/หรือไม่ได้รับอนุญาต

รูปภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Thai_market_vegetables_01.jpg

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →