การศึกษา: ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาจริงหรือ?

รศ. ดร.อนุมงคล ศิริเวทิน
นักวิชาการอิสระ
ศ. ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

เนื่องจากการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาคุณภาพของพลเมืองของประเทศดังนั้นการที่ประเทศไทยไม่พัฒนาก้าวหน้าไปถึงจุดที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นศักยภาพที่แท้จริงของประเทศ ก็น่าจะมีสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาในการจัดการการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีบุคคลอีกหลายกลุ่มที่กล่าวว่าสาเหตุสำคัญของความบกพร่องก็คือการที่ประเทศไทยมีการจัดการการศึกษาที่สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรมการบรรยายในครั้งนี้จึงขอนำเสนอเหตุผลที่แสดงว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องตรงประเด็นและไม่น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีสูงสุดต่อประเทศได้

ก่อนอื่นขอเสนอข้อคิดปฐมบทที่ว่า “เรียนหนังสือไปทำไม?” คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นได้หลายประการ ตั้งแต่เรียนเพราะอยากรู้ เรียนเพราะพ่อแม่อยากให้เรียน เรียนเพื่อให้สถานะทางสังคมดีขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศนั้นจะเจริญได้ก็ด้วยประชากร และประชากรก็เจริญได้ด้วยการศึกษาดังตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและแม้กระทั่งประเทศที่เป็นที่จับตามองด้านการจัดการศึกษา เช่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม ฯลฯ

ปัจจุบันการศึกษาไทยมีคุณภาพไม่ดีนัก ทั้งนี้มิใช่แต่เพียงในแง่วิชาการ แต่ในแง่ของอุปนิสัยของผู้เรียนด้วยด้วย เช่น ปัญหาในแง่ของความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม กล้าหาญ มีระเบียบวินัย มีมารยาทดี ฯลฯ โดยพบปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนจนถึงระดับปริญญาเอก คุณภาพของการศึกษาที่ลดลงอาจพิจารณาได้จากผลการสอบต่าง ๆ เช่น ผลสอบ ONET, PISA และการลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นของการลงทุนที่ต้องอาศัยแรงงานที่มีพื้นฐานความรู้ระดับกลางขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ประเทศหลายประเทศที่อยู่ในลำดับสูงตามการจัดของ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) Global school ranking ก็ยังยึดระบบการสอบและการประเมินผลเป็นอย่างมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าการจัดการศึกษาที่ไม่มี/ไม่เน้นการสอบก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดหรือไม่

ในแง่ของความเหลื่อมล้ำ ต้องกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ มีอยู่ในทุกๆ ด้านและในทุก ๆ มิติ ประเด็นที่ควรพิจารณา คือ สังคมต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถหลากหลาย ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่ามีความจำเป็นจริงหรือไม่ที่ทุกคนต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ คนทุกคนก็มิได้มีความสามารถทางการศึกษาเท่าเทียมกัน ในอดีต ประเทศต่าง ๆ มีการแข่งขันและต่อสู้กันมาโดยตลอดสถาบันที่ทำหน้าที่อบรม/ฝึกสอนคนจึงต้องคัดคนที่แข็งแรง และฉลาดเฉลียวมาอบรม/ฝึกสอนก่อน ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการ “เลือก” ว่าจะให้ใครทำหน้าที่อะไร จะอบรม/ฝึกสอนใคร ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการเลือก และควรต้องเลือกให้เหมาะสม จึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่สังคมเป็นสังคมประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงเกิดความต้องการการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจึงทำให้เกิดสถาบันการศึกษาขึ้นมากมาย จนในที่สุดมีสถาบันการศึกษามากกว่าความต้องการการศึกษา และมีหลายสถาบันที่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรือมีคุณภาพต่ำลง ต่างจากภาพในอดีตซึ่งการพัฒนาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการพัฒนาคน/สถาบันจำนวนน้อย

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามากมายหลายวิธี เช่น การยกเลิกระบบสอบตกซ้ำชั้น (ให้ใช้ระบบการสอบซ่อมแทน) การกล่าวอ้างว่าการท่องจำเป็นสิ่งไม่ดี/ไม่จำเป็น การพัฒนาให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง ลด/เลิกการให้การบ้าน การสอบ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ฯลฯ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงหรือไม่ ในทางตรงกันข้าม อาจพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ “ส่งเสริมเกื้อกูล” (Nurturing) สติปัญญาและการเรียนรู้ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีแรกของชีวิต อาจจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน และศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด

ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ การสร้างครูที่เก่งและดี สามารถแยกแยะนักเรียนได้ตามความสามารถ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองให้ใกล้เคียงกับศักยภาพ (ทางวิชาการ) ที่สูงสุด พร้อมกับต้องอบรมบ่มนิสัยนักเรียนให้เป็นพลเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม มีคุณธรรมรับผิดชอบ ขยัน กล้าหาญ มีระเบียบวินัย สุภาพ มีความเพียร มีมารยาท ใจกว้าง รักการเรียนรู้ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังอาจจัดให้มีวิทยากร เช่น นักศึกษา/อาจารย์ สาขาศึกษาศาสตร์จากสถาบันท้องถิ่น (เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฎต่าง ๆ) เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน โดยไม่เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินฐานะของครอบครัว

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นมีอยู่จริง แต่จำเป็นที่จะต้องแยกแยะระหว่างความเหลื่อมล้ำที่สมเหตุสมผลและพึงมีอยู่ออกจากความเหลื่อมล้ำที่ไม่พึงปรารถนา การแก้ปัญหาต้องกระทำโดยการหาทางเลือกที่ตรงกับปัญหาที่ต้องการแก้ ลดผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา และเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้ในทางการเงินและโครงสร้าง ไม่ขาดสติวิ่งตามกระแสเรียกร้องความเท่าเทียมที่ฟังเผิน ๆ อาจจะดูดี แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการฝืนธรรมชาติ ฝืนสภาพความเป็นจริง และฝืนตรรกะเหตุผล หาไม่แล้ว จะนำมาซึ่งความเสื่อมของธรรมชาติ (ความล่มสลายทางเศรษฐกิจ ความแตกแยกทางสังคม ฯลฯ) มากกว่าความเจริญที่ทุกคนใฝ่หา

บรรยายในที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →