ฆาตกรเงียบ

ศ. ดร. พญ.นิภา จรูญเวสม์
ภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) คือ สภาวะที่บุคคลมีความดันโลหิตเกิน ๑๒๙/๘๕ มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าหากมีอาการความดันโลหิตสูงจะต้องมีอาการปวดศีรษะ หากไม่ปวดศีรษะ แสดงว่าความดันโลหิตไม่สูง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด อย่างไรก็ตาม เมื่ออวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายมากขึ้นจากความดันโลหิตที่สูงเกินกว่าปกติ จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ เช่น อัมพาต หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจตาย และไตวาย ทำให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงถึงแก่กรรมได้โดยไม่รู้ตัว ความดันโลหิตสูง จึงได้ชื่อว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ”

ความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุถึงกว่าร้อยละ ๙๐ แต่สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ คือ กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ เช่น ผู้ที่บิดาหรือมารดามีความดันโลหิตสูง มักจะมีความดันโลหิตสูงเช่นกันเมื่อมีอายุมากขึ้น (อายุ ๓๐ ขึ้นไป) นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน รับประทานอาหารรสเค็ม ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เครียด เป็นต้น

ภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Grade_1_hypertension.jpg

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →