วัคซีนป้องกันมะเร็ง

ศ. ดร. นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งสามารถจำแนกออกได้เป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ วัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน และวัคซีนที่ใช้ในการบำบัดรักษา โดยวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันเป็นวัคซีนที่ให้กับผู้ที่มีสุขภาพดี เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเป็นการป้องกันร่างกายจากเชื้อไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ ทั้งนี้ จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนก่อนการติดเชื้อไวรัสชนิดนั้น วัคซีนในกลุ่มนี้มีหลากหลายชนิด เช่น วัคซีน HBV (Hepatitis B virus) ที่ใช้ป้องกันมะเร็งตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี และวัคซีน HPV (Human papillomavirus) ที่ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ป้องกันหูดที่ช่องคลอด ทวาร และอวัยวะเพศ

ในส่วนของการป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ใช้เซรุ่มพิเศษ (Hyperimmune globulin) ในการป้องกันการติดเชื้อหลังสัมผัสโรค และป้องกันทารกแรกเกิดที่เสี่ยงต่อการติดโรคจากมารดาที่เป็นพาหะเชื้อเรื้อรัง (โดยฉีดวัคซีนและเซรุ่มภายใน ๒๔ ชั่วโมง หลังคลอด) แต่เดิมวัคซีนชนิดนี้ผลิตจากพลาสมาของคนที่ติดเชื้อ (Plasma-derived HBV vaccine) แต่ในปัจจุบันผลิตจากยีสต์ (Yeast-derived HBV vaccine) โดย เทคโนโลยีการตัดต่อพันกุกรรม โดยการนำยีนของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตำแหน่งที่กำหนดการสร้างโปรตีน HBsAg สอดใส่เข้าในยีนของยีสต์ Saccharomyces cerevisiae หลังจากยีสต์ทำการสร้างโปรตีน HBsAg ออกมาในปริมาณมาก จึงนำมาทำการแยกให้บริสุทธิ์ เพื่อนำมาเตรียมเป็นวัคซีน วัคซีนชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรกในประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ที่มีจำหน่ายในตลาดปัจจุบันมีชนิดเดียว คือที่ผลิตจากยีสต์ โดยมีโปรตีน HBsAg ๕ ถึง ๔๐ ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร
การป้องกันการติดเชื้อให้แก่ทารกแรกคลอดที่มารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี นี้เป็นการป้องกันไม่ให้ทารกติดเชื้อเรื้อรังตั้งแต่เกิด ซึ่งจะกลายเป็นมะเร็งตับในภายหลังได้ การที่ประเทศไทยมีนโยบายให้วัคซีน HBV แก่เด็กแรกคลอดโดยทั่วไปนับเป็นการป้องกันโรคมะเร็งตับในอนาคต และทำให้อัตราความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในประชากรไทยซึ่งเคยสูงกว่าร้อยละ ๘ ลดลงตามลำดับ จนในปัจจุบันอาจมีความชุกเหลือเพียงต่ำกว่าร้อยละ ๑ แล้วก็ได้

ในส่วนของไวรัสอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นไวรัสที่อยู่ในวงศ์ Papillomaviridae ซึ่งเป็นไวรัสที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลาน ไวรัสชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ในลักษณะของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหูดในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งมนุษย์ ซึ่งไวรัสที่สามารถทำให้ติดเชื้อในมนุษย์ได้เรียกว่า HPV ที่มีการค้นพบแล้วถึงมากกว่า 200 ชนิด HPV เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยหูดที่ผิวหนัง และสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก ในปัจจุบันวัคซีน HPV ที่มีประสิทธิภาพมีอยู่ ๓ ชนิด ได้แก่ ชนิด ๒ สายพันธุ์ (Bivalent vaccine) ผลิตจาก HPV ๑๖ และ ๑๘ ชนิด ๔ สายพันธุ์ (Quadrivalent) vaccine ผลิตจาก HPV ๖, ๑๑, ๑๖ และ ๑๘ และชนิด ๙ สายพันธุ์ (Nonavalent) vaccine ผลิตจาก HPV ๖, ๑๑, ๑๖, ๑๘, ๓๑, ๓๓, ๔๕, ๕๒ และ ๕๘ แต่ในประเทศไทยมีการจดทะเบียนเฉพาะชนิด ๒ และ ๔ สายพันธุ์เท่านั้น

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่นำไปใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อ HPV หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องจาก HPV กล่าวคือมีแต่เพียงวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อล่วงหน้า แต่ใช้รักษาไม่ได้ วัคซีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกัน หากได้รับก่อนการมีกิจกรรมทางเพศ

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →