แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ดร.ภาสกร ประถมบุตร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ศ. ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

เมืองอัจฉริยะ (Smart cities) เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง เนื่องจากสามารถพิจารณาถึงความเป็นอัจฉริยะได้จากหลากหลายประเด็น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปความเป็นอัจฉริยะของเมืองมักไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี แต่มักอยู่ที่ประเด็นด้านสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เสียมากกว่า ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ

สาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่เป็นที่มาของเมืองอัจฉริยะ คือ ปัญหาความแออัดของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีประมาณการว่าประชากรโลกมากถึงครึ่งหนึ่งเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง และมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. ๒๕๙๓ จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มสูงขึ้นถึง ๖.๓ พันล้านคน ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมีปัญหาจากความแออัด ปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมใช้ในการแก้ปัญหาของเมือง แทนที่จะใช้แต่เพียงวิธีการแก้ปัญหาทางกายภาพแบบดั้งเดิม (เช่น การตัดถนน ตัดสะพานข้ามแยกเพิ่ม สร้างสวนสาธารณะ สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ) จะทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของเมืองลดน้อยลง หรืออาจกล่าวได้ว่าเมืองนั้นฉลาดขึ้น หรือกลายเป็นเมืองอัจฉริยะนั่นเอง

แนวคิดหลักของการสร้างเมืองอัจฉริยะ คือ การเปลี่ยนประเด็นปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณขยะ ระดับน้ำ การไหลของน้ำ จำนวนรถยนต์บนท้องถนน ฯลฯ ให้กลายเป็นข้อมูลตัวเลข ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขนั้นสามารถวิเคราะห์และจัดการได้ นอกจากนี้ ยังอาจใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ เช่น การประยุกต์ใช้ภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดร่วมกับเทคนิคการประมวลผลภาพ (Image processing)  เพื่อตรวจจับอุบัติเหตุ การต่อสู้ เพลิงไหม้ การฝ่าฝืนกฎจราจร ฯลฯ เพื่อแจ้งเหตุให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที

ในยุโรปมีการกำหนดขอบเขตของความเป็นอัจฉริยะของเมืองไว้อย่างกว้าง ๆ เป็น ๖ ด้าน ดังนี้

  1. เศรษฐกิจอัจฉริยะ คือ การทำให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกรรมด้านเศรษฐกิจ เช่น มีการใช้การเงินดิจิทัล (Digital finance) ในการทำธุรกรรมด้านการเงิน มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน และสร้างรายได้เพิ่มในภาคเกษตรกรท้องถิ่น
  2. ประชากรอัจฉริยะ คือ การทำให้คนมีความรู้ความสามารถ เช่น การที่ประชากรในเมืองสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และอย่างสร้างสรรค์ สามารถรู้เท่าทัน และไม่ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่ประสงค์ดี
  3. ระบบบริหารปกครองอัจฉริยะ คือ การที่ประชากรมีส่วนร่วมในการบริหารเมือง เข้าถึงบริการสาธารณะที่มีธรรมาภิบาล เช่น การที่ประชากรสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านทางช่องทางต่าง ๆ รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูล
  4. การเคลื่อนที่อัจฉริยะ คือ ความคล่องตัวและปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง เช่น การมีระบบขนส่งที่ปลอดภัย ปลอดมลพิษและประหยัดพลังงาน มีระบบบริการแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการจราจร และการที่จำนวนอุบัติเหตุจากการจราจรมีปริมาณลดลง
  5. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คือ สภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ ไร้มลพิษ ประหยัดพลังงาน โดยอาจมีระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชากรในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
  6. การดำเนินชีวิตอัจฉริยะ คือ การมีความสะดวกปลอดภัยในการดำเนินชีวิต เช่น มีระบบบริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิต (ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ฯลฯ) การเกิดอาชญากรรมลดลง มีพื้นที่อาศัยโดยเฉลี่ยต่อประชากรเหมาะสม ไม่แออัด

ทั้งนี้ การจะวัดว่าต้องมีความเป็นอัจฉริยะมากน้อยเพียงใดจึงจะเรียกเมือง ๆ นั้นว่าเป็นเมืองอัจฉริยะก็ขึ้นกับบริบท หรือความต้องการของเมืองและประชากรในเมืองนั้น ๆ โดยทั่วไป มักเน้นในเรื่องของความสมดุลระหว่างจำนวนประชากรและทรัพยากรที่มีอยู่เป็นหลัก นอกจากนี้ เมืองอัจฉริยะเมืองหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีความเป็นอัจฉริยะในทุก ๆ ด้านก็ได้

สำหรับประเทศไทย มีการมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการเมืองอัจฉริยะ เนื่องจากเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบ สาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เมืองอัจฉริยะที่เริ่มมีการขับเคลื่อนกันในประเทศไทย โดยมากยังเป็นเพียงเขตหนึ่งของเมือง (ยังไม่ถึงกับเป็นเมืองทั้งเมือง) และยังขาดความเชื่อมโยงกันระหว่างเมือง ตลอดจนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แนวคิดที่สำคัญในการสร้างเมืองอัจฉริยะ ได้แก่

  1. ต้องเข้าใจและเข้าถึงถึงความต้องการ การจะพัฒนาเมืองได้ ต้องค้นให้พบว่าปัญหาและความต้องการของประชากรในเมืองนั้นคืออะไร ต้องเก็บข้อมูลและเข้าไปคลุกคลีกับปัญหา การแก้ปัญหาต้องตอบโจทย์ในทุกมิติทั้งวงจรชีพ
  2. ต้องมีเจ้าภาพตัวจริงในการพัฒนา การพัฒนาเมืองเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่เฉพาะแต่องค์กรที่บริหารเมืองเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจนว่าใครมีบทบาทและรับผิดชอบอะไรในการแก้ไขปัญหานั้น ๆ
  3. ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีกิจกรรมการอบรม สัมมนา การสร้างหลักสูตร สื่อประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อให้ประชากรในเมืองเห็นความสำคัญ และร่วมกันออกความคิดเห็นในการพัฒนาเมือง
  4. ต้องมีการสร้างข้อมูลที่ดี ให้มีความเชื่อมโยง พร้อมต่อยอดและแบ่งปัน ข้อมูลเป็นหัวใจของการพัฒนาเมือง จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดีในการตัดสินใจ วางแผน ออกแบบ และบริหารจัดการ และต้องเป็นข้อมูลเปิด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง พร้อมให้ประชากรทุกคนสามารถต่อยอดและแบ่งปันไปสร้างประโยชน์ในด้านอื่นได้
  5. ต้องมีแบบจำลอง (Business model) เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
  6. ต้องให้ประชากรทุกคนมีส่วนร่วม เมืองควรจะต้องมีเวที ช่องทาง และกลไกการสร้างการมีส่วนร่วม ให้ชุมชนที่ต้องการพัฒนาได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ออกแบบ บริหาร และตรวจประเมินผลการพัฒนานั้น
  7. ต้องมีการสร้างสรรค์นวัตกรรม เมืองควรจะต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม เช่น การสร้างพื้นที่นวัตกรรม (Innovation space) ของชุมชน มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกการทดลอง ทดสอบ หรือการพบปะระดมสมอง
  8. ต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรฐาน ซึ่งอาจทำได้ยาก และต้องใช้เวลานาน แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน จะช่วยลดอุปสรรคและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาเมือง

แนวคิดข้างต้นทั้ง ๘ ข้อ นำมาสู่วิธีการดำเนินการ ได้แก่

  1. การวางแผนแม่บทพัฒนาคน การเก็บข้อมูลวางแผนแม่บท การตั้งคณะทำงานหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
  2. การพัฒนาสาธารณูปโภคเชิงดิจิทัล เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิด และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoT)
  3. การพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการและร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการ
  4. การดำเนินการประเมินและขยายผลตามตัวชี้วัด แล้วปรับแผนวนแบบไม่รู้จบ เพราะการพัฒนาเมืองไม่ใช่กิจกรรมที่กระทำแต่เพียงครั้งเดียวแล้วจะเสร็จสิ้น แต่จะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาของเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเทคโนโลยีที่อาจนำมาใช้ในการแก้ปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ภาพประกอบ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%D0%A2%D0%B5%D1%80%D1%80%D0%B8%D1%82%D0%BE%D1%80%D0%B8%D1%8F_%22%D0%A1%D0%9C%D0%90%D0%A0%D0%A2_%D0%A1%D0%B8%D1%82%D0%B8_%D0%9A%D0%B0%D0%B7%D0%B0%D0%BD%D1%8C%22.jpg

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →