เกษตรพันธสัญญากับการจัดการโซ่อุปทานสินค้าเกษตร

ศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ภาคีสมาชิก สำนักวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เกษตรพันธสัญญา (Contract farming) เริ่มมีการใช้เป็นครั้งแรกโดยบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปทำธุรกิจในไต้หวันตั้งแต่ช่วงทศวรรษปี ค.ศ. ๑๙๓๐ เพื่อให้มีอุปทาน (Supply) และคุณภาพของผลผลิตเป็นไปตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม เกษตรพันธสัญญามักถูกกล่าวถึงในแง่ลบ โดยเฉพาะในแง่ของสัญญาที่ภาคอุตสาหกรรมเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เกษตรพันธสัญญามีความสำคัญ ทั้งในด้านการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร ความมั่นคงของอุปทานที่จัดส่งเข้าสู่ระบบการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งการควบคุมต้นทุนการผลิตไม่ให้แปรปรวนภายใต้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ
ในแง่ของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) เกษตรพันธสัญญามีประโยชน์ทั้งแก่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกร โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น เกษตรพันธสัญญาจะทำให้สามารถ ควบคุมวัตถุดิบที่เข้าสู่สายการผลิตให้มีคุณภาพและปริมาณที่แน่นอน สอบกลับได้ (Traceability) จึงเป็นการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้น ในส่วนของเกษตรกร เกษตรพันธสัญญาจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงด้านการตลาดและราคา ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีกระบวนการผลิตที่เป็นที่ต้องการของตลาด และเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้
ระบบเกษตรพันธสัญญาโดยทั่วไปอาจแบ่งได้เป็น ๓ แบบ คือ (๑) ระบบประกันรายได้ (๒) ระบบประกันราคา และ (๓) ระบบประกันตลาด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

  1. ระบบประกันรายได้ เป็นระบบที่ภาคอุตสาหกรรมควบคุมการผลิต ปัจจัยการผลิต และบริการต่าง ๆ แต่เกษตรกรเป็นผู้ลงทุนในต้นทุนคงที่ เช่น อาคาร หรือ โรงเลี้ยง เป็นต้น โดยเกษตรกรจะได้รับรายได้ตามที่ตกลงกันไว้เบื้องต้น ดังนั้นระบบนี้จึงเหมาะกับกลุ่มเกษตรกรที่ไม่มีความชำนาญด้านการตลาดและการผลิต
  2. ระบบประกันราคา เป็นระบบที่ภาคอุตสาหกรรมควบคุมปัจจัยการผลิตบางส่วน เกษตรกรทำสัญญาขายผลผลิตให้กับบริษัทในราคา ปริมาณและคุณภาพตามกำหนด ระบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ไม่ต้องการความเสี่ยงตามราคาตลาด แต่มีความสามารถในการผลิต
  3. ระบบประกันตลาด เป็นระบบที่เกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนการผลิตเองทั้งหมด แต่ขายวัตถุดิบให้กับภาคอุตสาหกรรม ภายใต้คุณภาพและเวลาที่กำหนด เกษตรกรมีอำนาจการตัดสินใจด้านการผลิตเต็มตัว ระบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรรายใหญ่ที่ต้องการขยายธุรกิจ แต่ไม่อยากทำตลาด ภาคอุตสาหกรรมหาตลาดให้ แต่ราคารับซื้อจะขึ้นลงตามราคาท้องตลาด

ในประเทศไทย ระบบประกันรายได้และระบบประกันราคาเป็นระบบที่นำมาใช้มากที่สุด ทั้งในการเลี้ยงปศุสัตว์และการเพาะปลูกพืช จากการสำรวจข้อมูล พบว่าเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่พึงพอใจกับระบบเกษตรพันธสัญญา โดยเฉพาะในกรณีของเกษตรกรที่มีทักษะการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสูง เพราะสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ส่วนในกรณีเกษตรกรที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ระบบ และไม่มีความชำนาญหรือทักษะการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงที่ดีพอ มักจะประสบปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้สิน
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติเพื่อให้เกษตรพันธสัญญาก่อประโยชน์สูงสุด ดังนี้

  1. ต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อสามารถต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสอง
  2. สัญญาจะต้องถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานประจำท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และปรับปรุงสัญญาให้เข้ากับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  3. ควรมีกฎหมายของพันธสัญญา โดยกฎหมายจะต้องระบุหน้าที่ ทั้งของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน และต้องระบุห้ามการกระทำดังต่อไปนี้ ห้ามมิให้บริษัทไม่รับผลผลิตที่ผลิตภายใต้สัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันควรตามที่ระบุไว้ในสัญญา ห้ามจ่ายเงินล่าช้าเกินกว่าวันที่ระบุไว้ในสัญญา ห้ามบังคับให้ซื้อปัจจัยการผลิตของบริษัท เกษตรกรต้องสามารถซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ที่มีคุณลักษณะเหมือนกันจากแหล่งอื่น ๆ ที่มีราคาถูกกว่าได้ และห้ามมิให้มีการเก็บเงินเกษตรกรล่วงหน้าสำหรับปัจจัยการผลิตที่มาจากบริษัท
  4. สัญญาควรระบุอย่างชัดเจนถึงผู้ซื้อ พื้นที่เก็บเกี่ยว ปริมาณเก็บเกี่ยวที่จะทำการซื้อขาย ระยะเวลาของสัญญา ชนิดและคุณภาพของผลผลิต ข้อพึงปฏิบัติเมื่อไม่เป็นไปตามสัญญา วิธีการขนส่งและจุดที่ขนส่ง ราคาและวิธีการจ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายแก่เกษตรกร การแก้ไขกรณีพิพาท
  5. ระบุรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญในการผลิต เช่น ข้อควรปฏิบัติในฟาร์ม รวมถึงคุณลักษณะของปัจจัยการผลิต การประกันภัยให้กับพืชผลที่เสียหายและสินทรัพย์ของเกษตรกร การให้บริการ การควบคุมผลผลิต ผู้ที่มีส่วนร่วมในการติดตามสัญญา
  6. เมื่อเกษตรกรขายผลผลิตที่ไม่ผ่านมาตรฐาน (ที่ระบุไว้ในสัญญา) ให้กับผู้อื่น เกษตรกรต้องจ่ายเงินค่าปัจจัยการผลิตคืนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และถ้าภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถรับซื้อผลผลิตได้ตามสัญญา เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปขายที่อื่นได้
  7. สินค้าที่อยู่ในระหว่างขนส่ง ควรอยู่ในความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรม/ผู้ขนส่ง ไม่ใช่เกษตรกร
  8. เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมควรร่วมกันรับผิดชอบค่าประกันภัยอย่างเป็นธรรม
  9. ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติที่เหนือความคาดหมาย ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรต้องรับผิดชอบร่วมกัน
  10. ภาคอุตสาหกรรมควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับตัวแทนเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมต้องลงทะเบียนการทำเกษตรพันธสัญญากับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแล
  11. ภาคอุตสาหกรรมจะต้องนำส่งสำเนาของสัญญา การเลิกสัญญา การละเมิดสัญญาให้กับหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแลในเวลาที่กำหนด และเมื่อเกิดกรณีพิพาทก็จะต้องแก้ไขทันที

เกษตรพันธสัญญาเป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงการประกันคุณภาพ ความปลอดภัย ตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางธุรกิจแบบเสรี จะช่วยให้ระบบ เกษตรพันธสัญญามีความเข้มแข็ง เป็นธรรมและโปร่งใส ประเด็นที่สำคัญที่จะทำให้เกษตรพันธสัญญามีความยั่งยืน คือ ทั้งเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมต้องมีความร่วมมือกันอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา นอกจากนี้ ภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลต้องมีส่วนเข้าไปกำกับดูแลเพื่อให้เกษตรพันธสัญญาเกิดความเป็นธรรม

ภาพที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Ashanti

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →