กลวิธานการเกิดมลภาวะอากาศ PM2.5 ในประเทศไทย เดือนมกราคม ๒๕๖๒

ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
ราชบัณฑิต

ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านไป ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานบริเวณกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงอย่างน้อย ๑๒ จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยุทยา อ่างทอง และปราจีนบุรี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้างมากกว่า ๒๐ ล้านคน ทำให้ทุกภาคส่วนและรัฐบาลตื่นตัว ช่วยกันหาแนวทางลดผลกระทบและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคต ความจริงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเคยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น ค่าที่ตรวจวัดได้โดยกรมควบคุมมลพิษใน กรุงเทพมหานคร มีค่า PM2.5 สูงถึง ๑๑๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่ค่าที่ตรวจวัดได้สูงถึง ๒๒๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในบริเวณริมถนนหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานครในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ หรือมีค่ามากกว่า ๓ เท่าของค่ามาตรฐานประเทศ ที่ไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในอดีตปัญหามลพิษอากาศมักเป็นข่าวเป็นที่รับรู้ของประชาชนจะเกิดขึ้นในฤดูหนาวต่อฤดูร้อนเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะทางบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเผาชีวมวลเกษตรในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเหตุการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม ปีนี้มีสาระสำคัญและข้อสังเกตสรุปได้ดังต่อไปนี้:

  1. ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาเกิดจากฝุ่นแหล่งกำเนิดในเมืองและจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ (คล้าย ๆ ฝาชี) เก็บฝุ่น ซึ่งเป็นกลวิธานที่เกิดขึ้นช้า ๆ ใช้เวลาหลายวัน บางครั้งกินเวลาถึง ๒ สัปดาห์ได้ เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงทวีความรุนแรงมากขึ้น
  2. ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: มักส่งผลให้ปัญหามลภาวะอากาศ PM2.5 รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง มีการก่อสร้างมาก มีอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และมีต้นไม้น้อย
  3. มีข้อมูลชี้ชัดว่าแหล่งกำเนิดมลภาวะอากาศ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากฝุ่นในเมืองและจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง ไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นจากการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่กล่าวอ้าง การแปลความหมายผิดทำให้แก้ปัญหาผิดจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
  4. แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมี ๖ แหล่ง ได้แก่ จากรถยนต์ จักรยานยนต์และการจราจรที่คับคั่งร้อยละ ๕๕ โดยเฉพาะสารเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จากไอเสียดีเซล จากจานผ้าห้ามล้อรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ ๑๕ จากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง (เช่น เผาขยะ เผามวลชีวภาพเกษตร) และเมรุเผาศพของวัดร้อยละ ๑๔ จากฝุ่นละอองทั่วไปและการก่อสร้างร้อยละ ๙, จากฝุ่นอื่น ๆ และฝุ่นข้ามพรมแดนร้อยละ ๖ และจากดินและถนนร้อยละ ๑
  5. ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีผลต่อมลภาวะอากาศ PM2.5 อย่างชัดเจน หากไม่แก้ไขที่ต้นกำเนิดฝุ่นจากประเภทต่าง ๆ คาดว่าปัญหามลภาวะอากาศ PM2.5 จะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงควรเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน
  6. ปัญหามลภาวะ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมากที่สุดแห่งหนึ่งคือบริเวณริมถนนหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีค่าสูงถึง ๒๒๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ย ๑ ชั่วโมง) หรือมีค่ามากกว่า ๔ เท่าของค่ามาตรฐานประเทศ สาเหตุมาจากการจราจรที่ติดขัดทั้งวันและฝุ่นจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย
  7. ปรากฎการณ์อากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: ส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ยิ่งสูงยิ่งฝุ่นเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น. ดังนั้น การอยู่อาศัยในอาคารสูงตอนกลางคืนจึงมีความเสี่ยงภัยมากกว่าคนเดินเท้าริมถนนตอนกลางวันหลายเท่าตัว
  8. ปรากฎการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ ส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ยิ่งสูงยิ่งร้อนและฝุ่นเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น.(ผิดปรกติ) ทั่วไปอากาศยิ่งสูงจะยิ่งหนาว (ปรกติ)
  9. ปรากฏการณ์อากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ในเมืองมีความเข้มข้นสูงมากขึ้นเหมือนมีฝาชีปิดอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในระดับต่ำคล้ายมีหมอกทั้งวัน แต่อากาศร้อนอบอ้าว มองไม่เห็นก้อนเมฆตอนกลางวัน ความชื้นสัมพัทธ์ยิ่งสูงยิ่งลดลงส่งผลให้ไม่มีฝนตกและโอกาสการทำฝนเทียมได้ผลน้อยลง
  10. ปรากฏการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: ส่งผลให้มีความเร็วลมที่ใกล้พื้นดินน้อยมากหรือแทบไม่มีลมพัดเลย และควาเร็วลมยิ่งสูงยิ่งลดลงกว่าปรกติโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น

  1. รัฐบาลควรบรรจุโครงการแก้ปัญหามลภาวะอากาศทั้งระบบ เข้าสู่โครงการเร่งด่วนในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีทันที
  2. จัดให้มีแผนแม่บทในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลดมลภาวะฝุ่น PM2.5 ของประเทศตั้งแต่แหล่งต้นกำเนิดในทุกภาคส่วน เช่น ภาคการขนส่งและคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคครัวเรือน และการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน อีกทั้งแก้ปัญหาเมือง
  3. เร่งการศึกษาวิจัย ค้นหากลวิธาน ตรวจติดตามเฝ้าระวังปัญหามลภาวะอากาศทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคม ในการรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลภาวะอากาศ ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
  4. รัฐบาลต้องประกาศให้เครื่องฟอกอากาศเป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน และลดภาษีให้เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและซื้อได้ในราคาถูก
  5. รัฐควรควรมีกลวิธานปฎิบัติงานเร่งด่วนตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรณีเกิดปัญหามลภาวะอากาศอย่างเป็นระบบ เช่น กรณีมีค่ามลภาวะอากาศเกินมาตรฐาน ๒ เท่าควรทำอย่างไร ๓ เท่าควรทำอย่างไร ๔ เท่าควรทำอย่างไร
รูปที่ ๑. ฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ มีแหล่งกำเนิดจากในเมืองและอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ (คล้าย ๆ ฝาชีเก็บฝุ่น) ซึ่งเป็นกลวิธานที่เกิดขึ้นช้า ๆ ใช้เวลาหลายวัน บางครั้งอาจถึง ๒ สัปดาห์ เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ปัญหามลภาวะอากาศ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงทวีความรุนแรงมากขึ้น

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →