สถานการณ์พลังงานไทยและการจัดการ

ศ. ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์
ราชบัณฑิต

ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ประเทศไทยจัดหาพลังงานขั้นต้น ๑๓๖,๒๑๕ พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีสัดส่วนการนำเข้ามากกว่าร้อยละ ๕๐ มีการแปรรูปซึ่งมีการสูญเสีย และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นส่วนหนึ่ง เหลือใช้ในรูปของพลังงานขั้นสุดท้าย ๘๐,๗๕๒ พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อจำแนกตามประเภทของพลังงานขั้นสุดท้ายที่ใช้ ที่สำคัญเป็นน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ ๕๐.๑ ไฟฟ้าร้อยละ ๒๐.๕ พลังงานหมุนเวียนร้อยละ ๙.๑ หากจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจพบว่า ใช้ในสาขาขนส่งร้อยละ ๔๐ สาขาอุตสาหกรรม ร้อยละ ๓๕.๒ โดยมีอัตราการเพิ่มของการใช้ในสาขาขนส่งสูงสุด คือร้อยละ ๗.๑ การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายและไฟฟ้าต่อหัวประชาชนยังมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี

การปล่อย CO2 จากการผลิตและการใช้พลังงานมีค่ารวม ๒๕๘.๘ ล้านตันในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ การแปรรูปพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าปล่อย CO2 สูงสุด คิดเป็นร้อยละ ๓๗ สาขาขนส่งร้อยละ ๒๘ สาขาอุตสาหกรรมร้อยละ ๒๗ การปล่อย CO2 ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย เมื่อพิจารณาการปล่อย CO2 ต่อ GDP ประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าจีน และค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

จากข้อมูลข้างต้นอาจสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านความมั่นคงทางด้านพลังงาน เนื่องจากมีสัดส่วนการนำเข้าพลังงานสูง และยังมีปัญหาการปล่อย CO2 เนื่องจากมีค่าการปล่อยในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเฉพาะเมื่อคิดต่อ GDP แนวทางการแก้ปัญหาต้องมุ่งที่ภาคการผลิตไฟฟ้าและสาขาขนส่งซึ่งเป็นสาเหตุหลัก โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ด้วยการพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบการกำหนดมาตรการการส่งเสริมที่เหมาะสม หนึ่งในเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญคือ Carbon tax และ Emission trading system ซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่า Carbon pricing instruments ควรได้รับการศึกษาวิจัยให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของประเทศไทย และนำมาประกอบการจัดทำนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญอย่างเหมาะสม

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →