ศ.กิตติคุณ ดร.มงคล เดชนครินทร์
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
แผงวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์อย่างง่ายสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เช่น เอาไปใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ ฯลฯ ในแง่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างง่าย อาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบขนานระหว่างแผงวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์ 8088 (แผงวงจรตัวหลัก) กับแผงวงจรไมโครคอนโทรลเลอร์ PIC16F627A (แผงวรจรตัวรอง) โดยแบ่งข้อมูลขนาด ๘ บิต ที่ถูกส่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนละ ๔ บิต แยกส่งและรับครั้งละส่วนก่อนที่จะถูกรวมกันใหม่ให้กลับเป็นข้อมูลเดิมที่ปลายทาง ด้านฮาร์ดแวร์นั้น ในแผงวงจรแต่ละแผงจะใช้สายส่ง/รับข้อมูลเพียง ๔ เส้น และใช้สัญญาณร่วมกัน ๒ เส้น เพื่อตรวจสอบ/แสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านซอฟต์แวร์ ใช้โปรแกรมควบคุมทั้งที่เป็นแบบหยั่งสัญญาณระหว่างแผงวรจรตัวหลักกับแผงวงจรตัวรอง และที่เป็นแบบขัดจังหวะการทำงานของแผงวงจรตัวหลักโดยแผงวงจรตัวรอง โดยในกรณีหลังนี้ต้องใช้สายสัญญาณระหว่างแผงวงจรทั้งสองเพิ่มขึ้นอีก ๑ เส้น เพื่อส่งสัญญาณขัดจังหวะ วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวนี้มีข้อดีที่สามารถลดจำนวนสายส่ง/รับข้อมูลแบบขนานจาก ๘ เส้นเหลือเพียง ๔ เส้น แต่มีข้อเสียที่อัตราเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการส่ง/รับข้อมูลแบบขนานขนาด ๘ บิตโดยตรง ในการทดลองแผงวรจรทั้งสองที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่ห่างกันไม่เกิน ๑ ฟุต พบว่าข้อมูลที่แผงวรจรปลายทางได้รับนั้นตรงกับที่ส่งจากแผงวงจรต้นทาง
ภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:KL_Intel_TD8088.jpg