ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ประชาชาติแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ลงทุนด้านการศึกษาสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือประมาณร้อยละ ๗๖ ของรายได้ ฯ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกลับได้รับการจัดอันดับด้านการศึกษาในระดับที่ต่ำมาก (เช่น อยู่ในลำดับที่ ๘๖ จากประเทศที่เข้าร่วมรับการจัดอันดับ ๑๔๔ ประเทศทั่วโลก หรืออยู่ในลำดับที่ ๗ ในกลุ่มประเทศอาเซียน จากการจัดอันดับโดย World Economic Forum ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๔-๒๐๑๕) นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราส่วนระหว่างจำนวนครูกับจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่ามีจำนวนครูมากแต่มีจำนวนนักเรียนลดลงเรื่อย ๆ (ปัจจุบันอัตราส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ ๑:๒๐) ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสูงมากเกินไป โดยสาเหตุหนึ่งของปัญหา คือ การลดลงของอัตราการเกิด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อจำนวนประชากรในวัยเรียนที่ลดลง (ปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพียงประมาณปีละ ๗๐๐,๐๐๐ คน เมื่อเทียบกับ ๑.๒ ล้านคน เมื่อประมาณ ๑๕ ปีก่อน) ในปัจจุบันมีโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนถึง ๑๒๐ โรง จำนวนมากกว่า ๕,๐๐๐ โรงที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๖๐ คน และมากกว่า ๑๔,๐๐๐ โรง ที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน
เหตุผลดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคดิจิทัล การค้นคว้าหาความรู้สามารถกระทำได้โดยตัวของผู้เรียนเอง ดังนั้นการเรียนการสอนจะต้องเป็นไปด้วยตัวของผู้เรียนเองเป็นหลักเช่น อาจเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการเรียนเองที่บ้าน และทำการบ้านที่โรงเรียน การศึกษาต้องเปลี่ยนจากการบริโภคความรู้ มาเป็นการสร้างองค์ความรู้ และต้องมีการต่อยอดความรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร เช่น การที่นักเรียนไทยไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ก็เนื่องจากทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่เข้าใจถึงการนำคณิตศาสตร์ไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
เด็กไทยในปัจจุบันเกิดและใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล หรือกล่าวได้ว่าเป็นชนเผ่าดิจิทัล ในขณะที่ครูผู้สอนกลายเป็นผู้ที่เกิดและเติบโตก่อนยุคดิจิทัล ทำให้ครูขาดความเข้าใจนักเรียน และไม่สามารถที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่สอนได้ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กไทยในปัจจุบันจะไม่จดจ่ออยู่กับข้อมูลใดเป็นเวลานาน ๆ ไม่สามารถสรุปรวบยอดความคิดได้ดี แต่กลับสามารถทำงานพร้อมกันได้หลาย ๆ อย่าง เช่น ทำการบ้านพร้อมกับการฟังเพลง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนผู้สอนให้เข้าใจในยุคดิจิทัล ประเทศไทยจึงจะเป็นประเทศไทย ๔.๐ ได้
คำถามที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้นักเรียนสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้ตลอดเวลาครูผู้สอนต้องสร้างสิ่งแวดล้อมแบบ Digital ecosystem เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และทำให้นักเรียนไม่เห็นความรู้เป็นสิ่งที่ตายตัว ตลอดจนเปลี่ยนบทบาทจากผู้บริโภคความรู้ไปเป็นผู้ผลิตองค์ความรู้ เนื่องจากการหาข้อมูลต่าง ๆ นั้นไม่ได้ยากมากเหมือนในอดีต จึงควรต้องเน้นกระบวนการเปลี่ยนข้อมูลไปเป็นความรู้ นักเรียนรุ่นใหม่ต้องอ่าน/เขียนเป็น (ไม่ใช่แต่เพียงอ่าน/เขียนได้) การเรียนการสอนในอนาคตอาจกลายเป็นการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalized education) ซึ่งจัดให้เหมาะสำหรับผู้เรียนแต่ละคนไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องสอดแทรกเข้าไปในกระบวนการเรียนการสอนเสมอคือ จริยธรรม
บรรยายในที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐