การพัฒนาภาวะพลเมืองระดับโลก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของมวลมนุษย์

ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ทุกวันนี้ความท้าทายต่าง ๆ ที่มนุษย์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของประชากรเมือง และภัยธรรมชาติ มิได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในโลกจะปรากฎต่อสายตาของคนทั้งโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ ประชาคมในประเทศต่าง ๆ จะมีความหลากหลาย ทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ประชากร วัฒนธรรม และประชาชาติ มีความเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน ระบบการศึกษาในยุคปัจจุบันจึงสมควรจะต้องเตรียมความพร้อมในการสร้าง “พลเมืองพันธุ์ใหม่” ที่มีความสามารถในการเผชิญความท้าทายในระดับโลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติเป็นที่น่าเสียดายว่า เรากำลังเตรียมความพร้อมให้แก่ “พลเมืองพันธุ์ใหม่” ให้ก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยระบบการศึกษาระบบเดิม ๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกับโลกในยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสเรียกร้องเป็นอย่างมากให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา ด้วยการปรับวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเนื้อหาที่เน้นให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน อันได้แก่

  1. การขยายตัวของพลเมือง (Population boom) ซึ่งประชากรโลกเพิ่มจากเดิมที่มีประมาณ ๑ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็นประมาณ ๗ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ และคาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๙ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๕๐
  2. การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว (Rapid urbanization) เช่น ในอดีตเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อนมีประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพียงร้อยละ ๓ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองถึงร้อยละ ๕๐ ในปัจจุบัน
  3. การบริโภคอย่างไม่ยับยั้ง (Ferocious consumption) ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว
  4. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
    (Technological flash)
  5. การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล (Digital transformation) ที่ทำให้ทุกอย่างเข้าถึงได้ทางดิจิทัล โดยเฉพาะการไหลของเงินตรา
  6. การเชื่อมโยงกันในระดับโลก (Global connectedness) ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและส่งต่อถึงกันของประชากร สินค้า และบริการ
  7. การครอบครองโลกของมนุษยชาติในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของสภาวะแวดล้อม
    (Environmental degradation) ซึ่งสร้างวิบากกรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกเป็นอย่างมาก
  8. ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่ง (Wealth inequality) โดยในปัจจุบันประชากรเพียงร้อยละ ๑ ของโลกครอบครองความมั่งคั่งถึงร้อยละ ๕๐ ของที่มีอยู่ทั่วทั้งโลก
    นอกจากนี้ การศึกษาในปัจจุบันยังควรเน้นการสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพื่อดำรงตนเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อโลก หรือที่เรียกว่า “พลเมืองโลก” (Global citizens) พลเมืองพันธุ์ใหม่นี้จะต้องมีความพร้อมด้วย “ทักษะพลเมืองโลก 5 ประการ” ได้แก่

    1. สากลทัศนคติ
    2. ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    3. มีความคิดสร้างสรรค์
    4. มีความคิดที่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม และ
    5. มีสมรรถนะในการบูรณาการสหวิชาการต่าง ๆ พลเมืองโลกจำต้องรู้แนวโน้มและ
      สัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อจะเป็นผู้นำ และต้องตระหนักในความจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการอุบัติใหม่ของเทคโนโลยี จึงต้องมีเครื่องมือที่จะเรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนั้นเป็นสากล และมักเกิดขึ้นในลักษณะที่เทคโนโลยีใหม่มาแทนเทคโนโลยีเก่า เพราะเทคโนโลยีใหม่นั้นมีข้อดีกว่าเทคโนโลยีเก่าอย่างชัดเจน เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์ในปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถไฟฟ้า

วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนา คือ ต้องสร้างเครื่องมือให้กับพลเมืองรุ่นใหม่ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะในแง่ของการศึกษา เช่น ต้องสอนวิธีการใช้ชีวิต ให้ทักษะและเครื่องมือในการหาความรู้ ตลอดจนวิธีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสอนให้มีจริยธรรม คิดถึงส่วนรวม และมีความรับผิดชอบต่อโลก

บรรยายในที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →