ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล
ราชบัณฑิต
ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านไป ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานบริเวณกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงอย่างน้อย ๑๒ จังหวัด ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง อยุทยา อ่างทอง และปราจีนบุรี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้างมากกว่า ๒๐ ล้านคน ทำให้ทุกภาคส่วนและรัฐบาลตื่นตัว ช่วยกันหาแนวทางลดผลกระทบและป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคต ความจริงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในประเทศไทยไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น ซึ่งจากข้อมูลพบว่าเคยเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น ค่าที่ตรวจวัดได้โดยกรมควบคุมมลพิษใน กรุงเทพมหานคร มีค่า PM2.5 สูงถึง ๑๑๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน พ.ศ. ๒๕๕๖ แต่ค่าที่ตรวจวัดได้สูงถึง ๒๒๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในบริเวณริมถนนหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานครในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ หรือมีค่ามากกว่า ๓ เท่าของค่ามาตรฐานประเทศ ที่ไม่เกิน ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ในอดีตปัญหามลพิษอากาศมักเป็นข่าวเป็นที่รับรู้ของประชาชนจะเกิดขึ้นในฤดูหนาวต่อฤดูร้อนเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะทางบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเผาชีวมวลเกษตรในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเหตุการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม ปีนี้มีสาระสำคัญและข้อสังเกตสรุปได้ดังต่อไปนี้:
- ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมาเกิดจากฝุ่นแหล่งกำเนิดในเมืองและจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ (คล้าย ๆ ฝาชี) เก็บฝุ่น ซึ่งเป็นกลวิธานที่เกิดขึ้นช้า ๆ ใช้เวลาหลายวัน บางครั้งกินเวลาถึง ๒ สัปดาห์ได้ เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ปัญหามลภาวะฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: มักส่งผลให้ปัญหามลภาวะอากาศ PM2.5 รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง มีการก่อสร้างมาก มีอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และมีต้นไม้น้อย
- มีข้อมูลชี้ชัดว่าแหล่งกำเนิดมลภาวะอากาศ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดจากฝุ่นในเมืองและจากอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีความสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง ไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นจากการเผาชีวมวลในประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่กล่าวอ้าง การแปลความหมายผิดทำให้แก้ปัญหาผิดจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้
- แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมี ๖ แหล่ง ได้แก่ จากรถยนต์ จักรยานยนต์และการจราจรที่คับคั่งร้อยละ ๕๕ โดยเฉพาะสารเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ จากไอเสียดีเซล จากจานผ้าห้ามล้อรถยนต์ จากโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ ๑๕ จากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง (เช่น เผาขยะ เผามวลชีวภาพเกษตร) และเมรุเผาศพของวัดร้อยละ ๑๔ จากฝุ่นละอองทั่วไปและการก่อสร้างร้อยละ ๙, จากฝุ่นอื่น ๆ และฝุ่นข้ามพรมแดนร้อยละ ๖ และจากดินและถนนร้อยละ ๑
- ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีผลต่อมลภาวะอากาศ PM2.5 อย่างชัดเจน หากไม่แก้ไขที่ต้นกำเนิดฝุ่นจากประเภทต่าง ๆ คาดว่าปัญหามลภาวะอากาศ PM2.5 จะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต จึงควรเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน
- ปัญหามลภาวะ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานมากที่สุดแห่งหนึ่งคือบริเวณริมถนนหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีค่าสูงถึง ๒๒๒ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ย ๑ ชั่วโมง) หรือมีค่ามากกว่า ๔ เท่าของค่ามาตรฐานประเทศ สาเหตุมาจากการจราจรที่ติดขัดทั้งวันและฝุ่นจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย
- ปรากฎการณ์อากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: ส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ยิ่งสูงยิ่งฝุ่นเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น. ดังนั้น การอยู่อาศัยในอาคารสูงตอนกลางคืนจึงมีความเสี่ยงภัยมากกว่าคนเดินเท้าริมถนนตอนกลางวันหลายเท่าตัว
- ปรากฎการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ ส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ยิ่งสูงยิ่งร้อนและฝุ่นเพิ่มมากขึ้นมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงกลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น.(ผิดปรกติ) ทั่วไปอากาศยิ่งสูงจะยิ่งหนาว (ปรกติ)
- ปรากฏการณ์อากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับส่งผลให้มลภาวะอากาศ PM2.5 ในเมืองมีความเข้มข้นสูงมากขึ้นเหมือนมีฝาชีปิดอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในระดับต่ำคล้ายมีหมอกทั้งวัน แต่อากาศร้อนอบอ้าว มองไม่เห็นก้อนเมฆตอนกลางวัน ความชื้นสัมพัทธ์ยิ่งสูงยิ่งลดลงส่งผลให้ไม่มีฝนตกและโอกาสการทำฝนเทียมได้ผลน้อยลง
- ปรากฏการณ์ลักษณะอากาศปิดแบบโดมความร้อนผกผันลดระดับ: ส่งผลให้มีความเร็วลมที่ใกล้พื้นดินน้อยมากหรือแทบไม่มีลมพัดเลย และควาเร็วลมยิ่งสูงยิ่งลดลงกว่าปรกติโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ ๑๙.๐๐ น. จนถึงเวลาเช้า ๗.๐๐ น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้น
- รัฐบาลควรบรรจุโครงการแก้ปัญหามลภาวะอากาศทั้งระบบ เข้าสู่โครงการเร่งด่วนในแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีทันที
- จัดให้มีแผนแม่บทในระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลดมลภาวะฝุ่น PM2.5 ของประเทศตั้งแต่แหล่งต้นกำเนิดในทุกภาคส่วน เช่น ภาคการขนส่งและคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคครัวเรือน และการแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน อีกทั้งแก้ปัญหาเมือง
- เร่งการศึกษาวิจัย ค้นหากลวิธาน ตรวจติดตามเฝ้าระวังปัญหามลภาวะอากาศทั้งระบบ รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและสังคม ในการรับมือปรับตัวต่อพิบัติภัยมลภาวะอากาศ ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
- รัฐบาลต้องประกาศให้เครื่องฟอกอากาศเป็นสินค้าควบคุมที่จำเป็นต่อสุขภาพของประชาชน และลดภาษีให้เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ เพื่อประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและซื้อได้ในราคาถูก
- รัฐควรควรมีกลวิธานปฎิบัติงานเร่งด่วนตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับกรณีเกิดปัญหามลภาวะอากาศอย่างเป็นระบบ เช่น กรณีมีค่ามลภาวะอากาศเกินมาตรฐาน ๒ เท่าควรทำอย่างไร ๓ เท่าควรทำอย่างไร ๔ เท่าควรทำอย่างไร