ศ. ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ทุกวันนี้ความท้าทายต่าง ๆ ที่มนุษย์ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายตัวของประชากรเมือง และภัยธรรมชาติ มิได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่งในโลกจะปรากฎต่อสายตาของคนทั้งโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที นอกจากนี้ ประชาคมในประเทศต่าง ๆ จะมีความหลากหลาย ทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่ประชากร วัฒนธรรม และประชาชาติ มีความเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน ระบบการศึกษาในยุคปัจจุบันจึงสมควรจะต้องเตรียมความพร้อมในการสร้าง “พลเมืองพันธุ์ใหม่” ที่มีความสามารถในการเผชิญความท้าทายในระดับโลก ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติเป็นที่น่าเสียดายว่า เรากำลังเตรียมความพร้อมให้แก่ “พลเมืองพันธุ์ใหม่” ให้ก้าวสู่คริสตศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยระบบการศึกษาระบบเดิม ๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกับโลกในยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดกระแสเรียกร้องเป็นอย่างมากให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา ด้วยการปรับวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเนื้อหาที่เน้นให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน อันได้แก่
- การขยายตัวของพลเมือง (Population boom) ซึ่งประชากรโลกเพิ่มจากเดิมที่มีประมาณ ๑ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๑๘๐๐ เป็นประมาณ ๗ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๑๖ และคาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ ๙ พันล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๕๐
- การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว (Rapid urbanization) เช่น ในอดีตเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อนมีประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเพียงร้อยละ ๓ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองถึงร้อยละ ๕๐ ในปัจจุบัน
- การบริโภคอย่างไม่ยับยั้ง (Ferocious consumption) ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว
(Technological flash) - การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล (Digital transformation) ที่ทำให้ทุกอย่างเข้าถึงได้ทางดิจิทัล โดยเฉพาะการไหลของเงินตรา
- การเชื่อมโยงกันในระดับโลก (Global connectedness) ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและส่งต่อถึงกันของประชากร สินค้า และบริการ
- การครอบครองโลกของมนุษยชาติในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของสภาวะแวดล้อม
(Environmental degradation) ซึ่งสร้างวิบากกรรมต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกเป็นอย่างมาก - ความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่ง (Wealth inequality) โดยในปัจจุบันประชากรเพียงร้อยละ ๑ ของโลกครอบครองความมั่งคั่งถึงร้อยละ ๕๐ ของที่มีอยู่ทั่วทั้งโลก
นอกจากนี้ การศึกษาในปัจจุบันยังควรเน้นการสร้างทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตและเพื่อดำรงตนเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อโลก หรือที่เรียกว่า “พลเมืองโลก” (Global citizens) พลเมืองพันธุ์ใหม่นี้จะต้องมีความพร้อมด้วย “ทักษะพลเมืองโลก 5 ประการ” ได้แก่- สากลทัศนคติ
- ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- มีความคิดสร้างสรรค์
- มีความคิดที่มีคุณค่าทางอุตสาหกรรม และ
- มีสมรรถนะในการบูรณาการสหวิชาการต่าง ๆ พลเมืองโลกจำต้องรู้แนวโน้มและ
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพื่อจะเป็นผู้นำ และต้องตระหนักในความจริงที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการอุบัติใหม่ของเทคโนโลยี จึงต้องมีเครื่องมือที่จะเรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนั้นเป็นสากล และมักเกิดขึ้นในลักษณะที่เทคโนโลยีใหม่มาแทนเทคโนโลยีเก่า เพราะเทคโนโลยีใหม่นั้นมีข้อดีกว่าเทคโนโลยีเก่าอย่างชัดเจน เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของรถยนต์ในปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถไฟฟ้า
วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนา คือ ต้องสร้างเครื่องมือให้กับพลเมืองรุ่นใหม่ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยเฉพาะในแง่ของการศึกษา เช่น ต้องสอนวิธีการใช้ชีวิต ให้ทักษะและเครื่องมือในการหาความรู้ ตลอดจนวิธีการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสอนให้มีจริยธรรม คิดถึงส่วนรวม และมีความรับผิดชอบต่อโลก
บรรยายในที่ประชุมสำนักวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐