แนวทางการประเมินหน่วยวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

ศ. ดร.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์  ราชบัณฑิต
และศ. ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา  ภาคีสมาชิก

ปัจจุบัน การประเมินหน่วยงานและบุคลากรวิจัยใช้เกณฑ์ที่หลากหลาย นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดบางตัวยังมีลักษณะเป็นเชิงคุณภาพค่อนข้างมาก จึงควรมีแนวทางการประเมินที่ใช้ดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณที่วัดได้ง่ายและชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ผู้บรรยายจึงนำเสนอแนวทางการประเมินหน่วยงานและบุคลากรวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยในส่วนของการประเมินหน่วยงานวิจัย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่สังกัดมหาวิทยาลัย) อาจใช้ดัชนี้ชี้วัดดังต่อไปนี้ (๑) จำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่ปรากฏในฐานข้อมูล Scopus (หรือฐานข้อมูล TCI ในกรณีของหน่วยงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) และจำนวนสิทธิบัตร (๒) คุณภาพบทความวิจัย ซึ่งพิจารณาจากจำนวนครั้งการอ้างอิง (๓) งบประมาณจากแหล่งทุนภายนอก (๔) จำนวนบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษา (๕) ผลงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับการประเมินบุคลากรวิจัย อาจใช้ดัชนี้ชี้วัดดังต่อไปนี้ (๑) จำนวนบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่ปรากฏในฐานข้อมูล Scopus โดยอาจพิจารณาทั้งจากจำนวนบทความรวม จำนวนบทความในวารสารที่อยู่ในควอร์ไทล์ที่ ๑ และ ๒ จำนวนบทความที่ผู้รับการประเมินเป็นผู้เขียนคนแรก (first author) และ/หรือเป็นผู้เขียนที่รับผิดชอบบทความ (corresponding author) (๒) จำนวนครั้งการอ้างอิง ซึ่งสืบค้นจากฐานข้อมูล Scopus (๓) h-index ซึ่งคำนวณจากข้อมูลในฐานข้อมูล Scopus (๔) จำนวนทุนวิจัย ทั้งจำนวนทุนรวม และเฉพาะที่เป็นหัวหน้าโครงการ (๕) จำนวนผลงานที่มีการนำไปใช้ประโยชน์และผลกระทบ แนวทางที่นำเสนอนี้มีความสอดคล้องในบางส่วนกับเกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยโลกของ QS และ Times Higher Education World University Rankings สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว และน่าจะเป็นที่ยอมรับ ในส่วนของสำนักวิทยาศาสตร์ ฯ อาจใช้ประโยชน์จากแนวทางการประเมินนี้ โดยจัดทำข้อมูลของนักวิจัยชั้นนำทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus และนำมาใช้ประกอบการคัดเลือกภาคีสมาชิกเชิงรุก ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เป็นเชิงรับโดยการรับสมัคร

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →