บล็อกเชน: เทคโนโลยีป่วนโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง

ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และ อาจารย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระบบบล็อกเชนเป็นระบบที่จะมาเปลี่ยนโลก หรือป่วนโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน การบริหารราชการ การดำเนินชีวิตในสังคม การศึกษา การใช้ชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนต้องเรียนรู้. บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกันได้ (Shared Database) หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลบัญชีแยกประเภทแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology, DLT) โดยเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่รับประกันความปลอดภัยว่า ข้อมูลที่บันทึกไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผู้ใช้งานทุกคนจะได้เห็นข้อมูลชุดเดียวกันทั้งหมด. โดยใช้หลักการการเข้ารหัส (Cryptography) และความสามารถของการคำนวณแบบกระจาย (Distributed Computing) เพื่อสร้างกลไกความน่าเชื่อถือ เนื่องจากรูปแบบการเก็บข้อมูลเป็นระบบที่ไม่มีศูนย์กลาง ไม่ต้องผ่านบุคคลที่สามหรือไม่ต้องผ่านคนกลางแต่ทุกคนเห็นตรงกันตลอดเวลาจึงทำให้ มีความน่าเชื่อถือได้และโกงยาก.

ในเชิงเทคนิค บล็อกเชนเป็นต้นไม้แฮช (Hash Tree) ซึ่งเป็นโครงสร้างข้อมูลที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดย Ralph Merkle ในปีค.ศ. ๑๙๗๙ และถูกนำมาประยุกต์เพื่อตรวจสอบและจัดการข้อมูลระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเพียร์ทูเพียร์ Peer-to-Peer (P2P).

ขั้นตอนการทำงานของบล็อกเชน

  • สร้างบล็อกข้อมูลทรานแซคชั่น (Transaction Block)
  • เผยแพร่ข้อมูลที่เข้ารหัสสู่เครือข่าย เพื่อหานักขุดตรวจสอบและหาค่าที่ใช้ครั้งเดียว (Nonce)
    ที่เรียกว่า Proof-of-Work (PoW)
  • การตรวจสอบและขุดหาค่าที่ใช้ครั้งเดียวมาสร้างลายเซ็น/แฮชซึ่งมีคุณสมบัติตามกำหนด
    (เช่น ขึ้นต้นด้วยศูนย์ ๗ ตัว) (Hash)
  • การต่อบล็อกเป็นห่วงโซ่โดยใช้ค่าแฮชเป็นตัวเชื่อมโยง (Block Chaining)

ลักษณะของบล็อกเชน

  • ความไม่เปลี่ยนแปลง (Immutability)
  • การกระจายอำนาจ (Decentralized)
  • ฉันทามติ (Consensus)
  • การชำระบัญชีที่เร็วขึ้น (Faster Settlement)


การประยุกต์ใช้งานสองอย่างที่สำคัญของบล็อกเชน

  • เงินดิจิทัล/คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)
  • สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)

ในการใช้งานแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของใช้งานบล็อกเชนนั้น คือ การกำเนิดของเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ทำให้เกิดเหรียญคริปโตสกุลแรกชื่อ บิทคอยน์ ขึ้น ซึ่งภายหลังตามมาด้วยเงินสกุลต่างๆที่องค์กรทั่วไปสามารถจัดตั้งขึ้นมาเองได้ โดยปัจจุบัน (๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔) มีมากถึง ๑๑,๔๖๘ สกุล แต่อัตราการอยู่รอดมีเพียง ๑๐% หรือบางช่วงอาจมีการซื้อขายเงินเพียง ๔๐๐ สกุลเงิน (๓.๕%) เท่านั้น. การเสนอเหรียญครั้งแรก (Initial Coin Offering, ICO) ทำได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มที่ใช้ภาษาในการออกเหรียญ เช่น ภาษาซอลิดิตี ภาษา LLL เป็นต้น ซึ่งทำให้เราสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาได้ในเวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง. ในประเทศไทยก็มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่ออนุญาติให้ระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายโทเ​​​คนดิจิทัลผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแล และปัจจุบันก็มีสกุลเงินคริปโต/เหรียญดิจิทัลสัญญาณไทยจำนวนหนึ่งเกิดขึ้น และเกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ.

ในระบบเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี มีขึ้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่ง คือ การหาฉันทมติ (Consensus). ปัจจุบันการหาฉันทมติมีสองแนวทาง คือ (๑) การพิสูจน์ด้วยการทำงาน (Proof of Work – PoW) ที่ใช้กับบิทคอยน์ และ (๒) การพิสูจน์ด้วยการมีส่วนได้ส่วนเสีย (Proof of Stake – PoS) ที่ใช้กับอีเธอร์เลียม (Ethereum) และอื่นๆ. การหาฉันทมตินี้เป็นจุดเริ่มของชื่อว่า “การขุดบิทคอยน์” ซึ่งผู้ขุดจะแข่งขันกันเป็นผู้ตรวจสอบผู้อื่น และเนื่องจากการตรวจสอบปรกติทำได้ง่าย จึงต้องมีการเพิ่มงานเข้าไป ผู้ขุดไม่ใช่ว่าจะทำการตรวจสอบอย่างเดียว แต่จะหาค่า nounce ที่ใส่ในฟังก์ชั่นแฮชแล้ว ทำให้ได้ค่าแฮชที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ฟังก์ชั่นแฮชที่ทำให้ค่าแฮชขึ้นต้นด้วยศูนย์ ๗ ตัว เป็นต้น ในการหาค่า nounce นี้เป็นการสุ่มเดา ซึ่งโดยทั่วไปประมาณ ๑-๑๐ นาทีก็มักพบผู้โชคดีที่เจอค่านั้น. โดยผู้พบจะสร้างบล็อกใหม่จาก ทรานซัคขั่น ค่าแฮชของบล็อกก่อนหน้า และค่า nounce. แล้วทำการประกาศบล็อกใหม่นี้ให้คนในระบบทั้งหมดนำไปใส่ไว้ในห่วงโซ่หรือเชน (Chain). การทำเช่นนี้ ทำให้คนที่คิดเข้ามาแก้ไขค่าระบบโดยไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องหาค่าฟังก์ชั่นแฮชที่เหมาะสมนี้ สำหรับทุกๆบล็อกที่เชื่อมกันในห่วงโซ่ ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะต้องใช้เวลามาก จึงเป็นการป้องการทำธุรกรรมซ้ำกันสองครั้ง (ใช้เหรียญเดียวกันซื้อของสองอย่างในเวลาเดียวกัน) ได้.

สำหรับการประยุกต์ใช้งานที่สองนั้นคือ สัญญาอัจฉริยะหรือสมาร์ทคอนแทร็กต์ (Smart contract) ซึ่งเป็นประยุกต์ใช้บล็อกเชนกับการทำธุรกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การใช้บล็อกเชนเป็นระบบเงิน. บล็อกเชนสามารถประยุกต์ใช้กับการทำสัญญาต่างๆ เช่น การเงินเพื่อการค้า (Trade finance), การประกันภัยแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P insurance), ความภักดีและผลตอบแทน (Loyalty and rewards), การจัดการสิทธิ์ดิจิทัล (Digital rights management), ไมโครเพย์เมนต์ (Micropayments), ทะเบียนที่ดิน (Land registry), หลักทรัพย์ค้ำประกัน (Securities insurance), เงินให้กู้ยืมร่วม (Syndicated loans), ประกันตามเหตุการณ์ (Event-driven insurance), บริการหลังการค้า (Post-trade services), โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแบบกระจาย (Distributed smart power grid) เป็นต้น. โดยหลักการสัญญาอัจฉริยะหรือสมาร์ทคอนแทร็กต์ ก็จะเป็นหลักการเดียวกับกรณีเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี โดยทั้งคู่เป็นการทำสัญญาระหว่างบุคคลที่ไม่รู้จักกัน และมีคนในเครือข่ายเป็นผู้ตรวจสอบ.

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ที่เพิ่งผ่านไป แสดงให้เห็นความกังวลของรัฐบาลจีนเรื่องเสถียรภาพของประเทศ โดยได้มีการออกกฎหมายห้ามขุดบิทคอยน์ หรือในอนาคตอาจไปถึงการห้ามถือครองเงินสกุลดิจิทัลต่างประเทศ เช่น บิทคอยน์ ได้. รัฐบาลจีนได้เข้ามากำกับดูแลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเงินและการฟอกเงิน และออกมาเตือนประชาชน พร้อมออกกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี่ขึ้น.

สำหรับเมืองไทยเรามีตัวอย่างการใช้บล็อกเชน เช่น ในเดือนกรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ กสิกรไทยเปิดบริการหนังสือค้ำประกันบนบล็อกเชนครั้งแรกของโลก จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล และบมจ. พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง. ในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ไทยพาณิชย์ ขานรับธนาคารแงประเทศไทย (ธปท.) ผนึกสมาคมธนาคารไทย รัฐวิสาหกิจ และองค์กรธุรกิจใหญ่ ร่วมสร้าง Thailand Blockchain Community Initiative แห่งแรกในไทย. นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมายกระดับประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ เริ่มต้นด้วยโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชน  สร้างโครงข่ายหนังสือค้ำประกันที่สะดวกปลอดภัยบนบล็อกเชนเป็นครั้งแรกของไทย. ภาครัฐเองก็เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้มาใช้ในการนำสมาร์ทคอนแทร็กต์หรือบล็อกเชนมาใช้ได้ในเรื่องต่างๆ เช่น การบริหารจัดการระบบทะเบียนที่ดินของภาครัฐ, การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง, การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐ, การให้บริการด้านสาธารณสุขของภาครัฐ, การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น เนื่องจากเราไม่ต้องมีตัวกลาง แต่ทุกคนจะเป็นผู้ตรวจสอบไปพร้อมๆกัน. ระบบบล็อกเชนจะช่วยลดขั้นตอนการดําเนินงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะการยืนยันการกระทำ ทําให้ประหยัดเวลาและต้นทุน ทำให้การดําเนินงานหรือการให้บริการทำได้รวดเร็วแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน. แต่ระบบบล็อกเชนยังถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่. สำหรับประเทศไทย บล็อกเชนอาจยังเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก เราจึงต้องมีวางกฎระเบียบเพื่อการควบคุมและกํากับดูแล ในขณะที่อีกด้านหนึ่งจะต้องไม่ปิดกั้นระบบบล็อกเชน.

อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนไม่ใช่ยาสรรพัดประโยชน์ บางเรื่องเราใช้ดี บางอย่างไม่จำเป็น. แต่ถ้าต้องการการยืนยันการกระทำ เราจะใช้บล็อกเชน ถ้าไม่ต้องการการยืนยันการกระทำ ก็ไม่ต้องใช้บล็อกเชน. ประชาชน องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน ในประเทศไทยคงไม่สามารถหลีกหนีเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ ที่กําลังจะมาเปลี่ยนองค์กร ประเทศ และโลกได้. การศึกษา การสร้างการรับรู้ การเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้าใจในระบบบล็อกเชนจะกลายเป็นข้อได้เปรียบของประชาชนที่สามารถนําไปประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตนเองและธุรกิจได้อย่างทันยุคสมัย และ ก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด. บล็อกเชนจะเป็นกลไกสําคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบทั้งภาคเศรษฐกิจหรือภาคสังคมในเวทีโลก หรืออย่างน้อย ก็อยู่รอดได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกแห่งดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สะดวกสบาย และรวดเร็ว.

อ้างอิง

https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=900

https://th.wikipedia.org/wiki/บล็อกเชน

https://www.bot.or.th/Thai/Segmentation/Public/PublicHearing/Documents/Hearing_Blockchain.pdf

https://www.tfac.or.th/Article/Detail/135089

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →