น้ำแข็งติดไฟ

มนุวดี หังสพฤกษ์
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานนี้ มีรายงานที่เกี่ยวกับความสำเร็จในการผลิตก๊าซมีเทนจากมีเทนไฮเดรต (methane hydrate) หรือที่เรียกกันว่า “น้ำแข็งติดไฟ” ซึ่งแท้จริงแล้ว คือ โครงตาข่ายของโมเลกุลน้ำที่กักโมเลกุลของก๊าซมีเทนเอาไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ก้อนน้ำแข็งที่มีมีเทนอยู่ตรงกลางและมีน้ำล้อมอยู่โดยรอบ สามารถติดไฟได้โดยไม่ต้องละลาย ก้อนมีเทนไฮเดรตเหล่านี้สะสมอยู่ใต้ดินตะกอนของมหาสมุทรทั่วโลก (ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำและความดันสูง ทำให้มีเทนไฮเดรตเสถียร แต่หากความลึกน้อยกว่า ๓๐๐ เมตร อาจจะเริ่มสลายตัว) แต่ส่วนใหญ่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น บริเวณชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือแม้กระทั่งในเขตประเทศฟิลิปปินส์  นอกจากใต้ตะกอนทะเลแล้ว ยังพบกระจายอยู่ใต้เพอมาฟรอสต์ (เขตน้ำแข็งถาวร) ในเขตอาร์คติกด้วย

ก้อนมีเทนไฮเดรตเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีรายงานที่เกี่ยวข้องในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. ๑๙๖๐ มีเทนไฮเดรตนับเป็นหนึ่งในความหวังที่อาจเป็นแหล่งพลังงานของโลกในอนาคต แต่ต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีในการป้องกันการรั่วของมีเทนออกสู่บรรยากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (แม้ว่าในปัจจุบันความเข้มข้นของมีเทนในบรรยากาศยังมีค่าน้อยมาก) ทั้งนี้ประเทศที่เริ่มสำรวจ วิจัย และทดลองผลิตก๊าซธรรมชาติจากก้อนมีเทนไฮเดรต ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

Academy of Science

สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา

View all posts by Academy of Science →