ศ. ดร.อมเรศ ภูมิรัตน
ราชบัณฑิต
การวิจัยและพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดนวตกรรม ซึ่งจะถูกพัฒนาต่อให้มีผลในเชิงการใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นผลให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติในที่สุด อย่างไรก็ดีงานวิจัยและพัฒนาจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องมีนักวิจัยที่สามารถสร้างกลุ่มวิจัยของตนเองได้ (เป็นนักวิจัยอิสระ independent researcher) มีการเชื่อมโยงงานวิจัยระดับนานาชาติและกับภาคเอกชน ตลอดจนสามารถแสวงหาแหล่งทุนวิจัยอย่างเพียงพอและอย่างต่อเนื่อง เป็นนักวิจัยที่มีทัศนคติและความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงเพื่อสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง
หากประเทศไทยต้องการให้มีนักวิจัยชั้นนำในปริมาณที่มากพอแล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวทางการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาประมาณ 5 ปีแรกหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้เป็นนักวิจัยอาชีพที่ประสบผลสำเร็จสูง
ในการบรรยายครั้งนี้จะมีการเปรียบเทียบแนวทางการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ของ 3 หน่วยงาน คือ International Foundation for Science (IFS) ฝ่ายวิชาการ ในสังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อศึกษามาตรการต่าง ๆ ของทั้ง 3 หน่วยงาน ตลอดจนเปรียบเทียบผลการดำเนินการของทั้ง 3 หน่วยงานนี้ เพื่อเป็นการหาแนวทางเพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในอนาคต
อนึ่ง หากสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา มีความสนใจที่จะหาแนวทางในการผลักดันเชิงนโยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ในอนาคต น่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ประมาณ 4 ถึง 5 ท่าน เพื่อหามาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่