ศาสตราจารย์ อุทัยรัตน์ ณ นคร

ภาคีสมาชิก     

ประวัติการศึกษา

พ.ศ. ๒๕๑๗ วท.บ. (ประมง) สาขาชีววิทยาประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๒๑ วท.ม. (พันธุศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๔๑ Ph.D. Genetics and Breeding in Aquatic Animals, Ehime University, ประเทศญี่ปุ่น

พ.ศ. ๒๕๔๗ ปริญญาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ประวัติการทำงานวิชาการ/วิชาชีพ

พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๒ อาจารย์ภาควิชาพืชไร่-นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๔ อาจารย์ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๒๙ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในสังกัดเดิม

พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๔๐ รองศาสตราจารย์ ในสังกัดเดิม

พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๕๓ ศาสตราจารย์ ในสังกัดเดิม

พ.ศ. ๒๕๕๔ – ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนสูงขึ้น ในสังกัดเดิม (ได้รับการขยายเวลาการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๘)

ประวัติการทำงานบริหาร

  • หัวหน้าภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง (๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๓)
  • ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓ – ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗)
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย (๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๐ – ปัจจุบัน)
  • กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สุวรรณภูมิ (๒๕๖๑ – ๒๕๖๕)

ผลงานวิชาการที่สำคัญ

     วางรากฐานการเรียนการสอนด้านพันธุศาสตร์สัตว์น้ำและการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย โดยได้เปิดสอนวิชา “พันธุศาสตร์สัตว์น้ำ” ในหลักสูตรปริญญาตรี วิทยาศาสตร์การประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และต่อมาได้เปิดสอนวิชา “การปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ” ในหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากผลงานวิจัยในด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมและการจัดการพ่อแม่พันธุ์ในปลาชนิดต่าง ๆ ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์ปลา ได้เขียนตำราพันธุศาสตร์สัตว์น้ำ เล่มแรกของประเทศไทย และใช้ในการเรียนการสอนวิชานี้ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และตำราเล่มล่าสุดคือ ตำราเรื่อง การปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเบื้องต้น จัดว่าเป็นตำราการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำเล่มแรกของประเทศไทย ที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านนี้ไว้อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นยังมีผลงานตีพิมพ์ในด้านความหลากหลายทางพันธุกรรม การจัดการพ่อแม่พันธุ์ และการปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนมากกว่า ๙๐ เรื่อง ได้รับการอ้างอิงในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง

     ผลงานเด่นในด้านการวิจัยคือการสร้างองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาที่สำคัญ ๆ ของไทย เช่นปลากลุ่มปลาดุก (Clariidae) ปลาบึกและปลาสวาย (Pangasidae) ค้นพบการปนเปื้อนทางพันธุกรรมในปลาดุกอุยจากยีนของปลาดุกยักษ์ และเสนอแนะแนวทางการจัดการพันธุกรรมของปลาขนาดใหญ่เช่นปลาบึก ด้วยความรู้ทางพันธุศาสตร์ประชากรและเครื่องหมายพันธุกรรม

     ในด้านการปรับปรุงพันธุ์ปลา ได้บุกเบิกการปรับปรุงพันธุ์ปลาดุกและปลาสลิด โดยใช้วิธีการ Best Linear Unbiased Prediction โดยความร่วมมือจากนักวิจัยในสาขาการปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ แม้การวิจัยไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องจนเกิดพันธุ์ใหม่ แต่ได้สร้างองค์ความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญให้กับนักวิจัยในโครงการ สร้างบุคลากรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในด้านการปรับปรุงพันธุ์ ประการสำคัญคือเป็นการสร้างแนวทางและกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการปรับปรุงพันธุ์ปลาสองชนิดนี้ในภาคเอกชน

     นอกจากนั้นการวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานในปลาดุก ได้สร้างองค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดสู่สาธารณชนในโอกาสต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำชนิดนี้ในประเทศไทย

ความเชี่ยวชาญ

          การปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ความหลากหลายทางพันธุกรรมสัตว์น้ำ การเพาะขยายพันธุ์ปลา

เกียรติคุณที่ได้รับ

  • เป็นภาคีสมาชิกสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรและสัตวแพทยศาสตร์ สาขาวิชา การประมง ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๓
  • ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา พ.ศ. ๒๕๕๐ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  • ได้รับคัดเลือกเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. ๒๕๔๖” และ “เมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ. ๒๕๕๐” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • ได้รับคัดเลือกเป็น “ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. พ.ศ. ๒๕๕๙” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
  • นิสิตเก่าดีเด่น ประเภทนักวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๐ จากสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • นิสิตเก่าดีเด่น ประเภทนักวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๕ จากสมาคมนิสิตเก่าคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • เป็นนายกสมาคม International Association of Genetics in Aquaculture วาระการดำรงตำแหน่ง ๒๕๔๙ – ๒๕๕๒
  • ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาประจำพระองค์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในระดับปริญญาเอกสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปีการศึกษา ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ประถมาภรณ์ ช้างเผือก
มหาวชิรมงกุฎ
มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก